BonChon สูตรสำเร็จแฟรนไชส์ไก่ทอดสไตล์เกาหลี





เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย 


    หากมองย้อนไปในช่วงที่ผ่านมา หลายคนอาจสังเกตเห็นว่ามีสาขาของร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลีผุดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามคอมมูนิตี้มอลล์และห้างสรรพสินค้า นั่นก็คือ ร้าน  BonChon Chicken Thailand แฟรนไชส์ไก่ทอดสัญชาติเกาหลีที่ถูกนำเข้ามาโดย “ธัญญา ศรีวัฒนาสกุล” 
 

    ด้วยกระแสการตอบรับที่ดีจากคนไทยที่ชื่นชอบไก่ทอดสไตล์เกาหลีแบบ BonChon ที่มีความแปลกใหม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ทำให้ BonChon มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนสาขาและยอดขาย เรียกได้ว่าแค่ภายในระยะเวลา 4 ปี BonChon ได้มีการขยายสาขาในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 11 สาขาด้วยกัน โดยเพิ่งเปิดตัวสาขาล่าสุดที่ Terminal 21 และอีกหนึ่งสาขาที่พัทยา 
 


    ก่อนหน้านี้ ธัญญาได้มีประสบการณ์และคลุกคลีอยู่ในวงการร้านอาหาร ด้วยการที่เธอเคยเปิดร้านอาหารของตนเองมาก่อนในย่านประชาชื่น และพบว่าการทำร้านอาหารของตนเองนั้น หากสไตล์อาหารและการบริการไม่มีความแตกต่างจากร้านอื่น ก็จำเป็นต้องลงทุนด้าน Marketing อย่างมาก เพื่อเรียกลูกค้าเข้าร้าน 
 


    ทว่า ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้ร้านอาหารของเธอนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนในที่สุดเธอจึงตัดสินใจมองหาสินค้าใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากที่ตลาดประเทศไทยมีอยู่ จนได้พบกับร้าน BonChon ใน New York ขณะที่เธอกำลังเรียน MBA ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยความสงสัยว่า ทำไมร้านไก่ทอดที่ดูธรรมดาถึงมีคนต่อคิวยาวเหยียด เมื่อได้ลิ้มลองและติดใจในความอร่อย เธอจึงปิ๊งไอเดียและมองเห็นโอกาสในการนำเข้าแฟรนไชส์ร้านไก่ทอดเกาหลี BonChon ให้คนไทยได้รู้จัก 
 


    หลังจากนั้น BonChon Chicken ได้ปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม ปี 2554 ในย่านทองหล่อ     และค่อยๆ เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แต่กว่าที่ BonChon จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเป็น Master Franchise หรือการถือครองสิทธิ์แฟรนไชส์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ทำให้ธัญญาต้องมองสเกลในการดำเนินธุรกิจใหญ่กว่าการเปิดร้านเพียงแค่ร้านเดียว ซึ่งเธอได้เปิดเผยเคล็ดลับในการทำธุรกิจ BonChon ให้ประสบความสำเร็จ โดยระบุว่า จุดสำคัญตั้งแต่ต้น นั่นก็คือ การเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ที่ดูแล้วว่าเหมาะกับตลาดประเทศไทย 
 

    “ต้องศึกษาว่าวัฒนธรรมของคนในประเทศเราเป็นอย่างไร ชอบอะไร ในตลาดมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังต้องดูอีกว่าเจ้าของแบรนด์เขาเป็นอย่างไร อย่าง BonChon เจ้าของแบรนด์ดีมาก เขาเลือกเราเพราะเราเป็นคน Local ไว้ใจให้เราปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เข้ากับวัฒนธรรมในประเทศของเราได้ และการเพิ่มเมนูใหม่ก็เป็นสิ่งที่เราทำตลอด เพื่อให้เข้ากับสิ่งที่คนไทยชอบ”
 

“เราจะเพิ่มเมนูใหม่ๆ ทุกปี ทาง BonChon จะช่วยเราเวลาพัฒนาสูตร เรามีหน้าที่คิดว่าจะเพิ่มเมนูอะไร มีสูตรอย่างไร ส่วนประกอบอะไรและให้ทางเขาช่วยดู ช่วยทดสอบว่าผ่านไหม เช่น ตอนแรกที่เราลองดูผลตอบรับของคนไทย เราคิดว่าคนไทยจะไม่ชอบรับประทานไก่ทอดเป็นหลักอย่างเดียว แต่จะชอบรับประทานกับซุป มีเครื่องเคียง เราจึงปรึกษากับเขาว่ามีสูตรซุปอะไรบ้าง เลยได้เป็นซุปกิมจิมาและเราก็ขอเขาเพิ่มข้อไก่ทอด ข้าวเหนียว เราเป็นประเทศเดียวที่มีข้าวเหนียวในเมนู ซึ่งเป็นเมนูที่ขายดีมากเพราะเหมาะสำหรับคนไทย”

 


    พร้อมกันนี้ ธัญญายังได้กล่าวต่ออีกว่า การศึกษารายละเอียดและข้อกำหนดของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนเบื้องต้น ค่า Royalty Fee ก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน

    “พอเราตัดสินใจเลือกแบรนด์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาต้องดูว่าค่าลงทุนเบื้องต้นสูงไหม รายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้ละเอียด เข้าไปพูดคุยกับเขา ดูว่าเขาต้องการให้เราทำอะไรบ้าง ภายในหนึ่งปีต้องเปิดร้านใหม่จำนวนกี่สาขา การตกแต่งเป็นแบบไหน ต้องกลับมาคิดว่าเราไหวไหม มีเงินลงทุนเท่าไหร่ เพราะการนำเข้าแฟรนไชส์เราต้องคำนึงถึงการดูแลแบรนด์ทั้งประเทศไม่ใช่แค่ร้านเดียว ต้องดูว่าวัตถุดิบหาได้ในประเทศเราหรือเปล่า อย่างบางประเทศที่ประสบความสำเร็จเพราะเขาอาจมีวัตถุดิบที่หาได้ง่าย แต่เราอาจต้องนำเข้า ทำให้ต้นทุนเราก็สูงตามไปด้วย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน” 

 


    นอกจากในเรื่องของการศึกษารายละเอียดในการซื้อแฟรนไชส์ และการเลือกแบรนด์ให้เข้ากับวัฒนธรรมในประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวแปรส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วยกัน

    “ในช่วงแรกที่เราเปิดร้าน เหตุผลที่เราไม่เอาเงินไปลงกับสื่อเลย เพราะเราต้องการให้ BonChon ค่อยๆ เติบโตแบบที่เราสามารถควบคุมได้ ต้องการให้คนเข้ามารับประทานครั้งแรกแล้วประทับใจ เพราะมันจะส่งผลให้เขากลับมารับประทานอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราจึงใส่ใจเรื่องของคุณภาพอาหาร และการให้บริการที่ต้องมีความรวดเร็ว ทันใจ แม้ว่าเราจะมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว แต่เราก็โฟกัสยอดขายในแต่ละสาขาด้วย เราเพิ่มพนักงาน พัฒนาและพยายามทำให้ระบบต่างๆ เร็วขึ้น เพื่อที่จะได้มีการหมุนเวียนโต๊ะที่มากขึ้น ยอดขายในแต่ละร้านของเราเลยเพิ่มขึ้น ประกอบกับลูกค้าบางกลุ่มเพิ่งรู้จักร้านของเรา”

 



“ นอกจากนี้ เราได้มีการทำแคมเปญ BonChon Chick Challenge : ท้ากินวิงส์ชิง 10 ล้านวอนช่วงที่ผ่านมา เลยทำให้ยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือโลเกชั่น เราไม่เพียงแค่เลือกว่าร้าน BonChon ควรเปิดที่ห้างไหน แต่เราให้ความสำคัญกับตำแหน่งพื้นที่ร้านค้าในตัวห้าง ถ้าร้านตั้งอยู่ตำแหน่งที่มีคนพลุกพล่าน ก็คล้ายเป็นการได้สื่อช่วยโปรโมตไปในตัว”
 



    อย่างไรก็ดี จากการที่ธัญญาเคยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจอาหารมา ทั้งในแบบของการเปิดร้านภายใต้แบรนด์ของตนเองกับการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาต่อยอด ทำให้ธัญญาทราบถึงข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป

 


    “การนำเข้าแฟรนไชส์จากต่างประเทศมีข้อเสียคือ แพงแน่นอน แต่ข้อดีที่ดีมาก นั่นคือ ถ้าสินค้าดี มีเอกลักษณ์ อย่าง BonChon สินค้ามันขายตัวเองได้ เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปลงกับค่า Marketing เลย แต่เอาเงินส่วนนี้ไปจ่ายค่าแฟรนไชส์แทน เพื่อจะได้สินค้าที่ดีและยั่งยืน กับอีกแบบคือ การทำร้านของตัวเอง ข้อดีคือเราเป็นเจ้าของ สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ตามความต้องการ แต่ถ้าสินค้าเราเหมือนๆ คนอื่น อาหารไทย สไตล์ฟิวชั่น ใครๆ ก็ทำได้ เราก็ต้องเหนื่อยกับการทำ Marketing ทำแคมเปญ เชิญชวนให้คนเข้าร้าน แต่ละอย่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป”

 



    และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวแห่งความสำเร็จของร้าน BonChon Chicken แฟรนไชส์ร้านไก่ทอดต้นตำรับจากประเทศเกาหลีที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยความอร่อยของไก่ทอดหนังบางกรอบ ซอสเข้มข้น พร้อมทั้งการพัฒนาและออกเมนูใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า BonChon Chicken เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ครองใจใครหลายคนในอยู่ขณะนี้

 


Key Success     
1. เลือกแบรนด์ที่เหมาะกับวัฒนธรรมคนไทย 
2. ศึกษารายละเอียดของแบรนด์ให้ดี 
3. มีการวางแผนในด้านต่างๆ 
4. ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศเพื่อลดต้นทุนในการนำเข้า 
5. เพิ่มสิ่งใหม่ๆ ให้แก่แบรนด์อยู่เสมอ 
6. ใส่ใจและรักในแบรนด์ 
7. รักษาคุณภาพและพัฒนาแบรนด์ตลอดเวลา 
8. ให้ความสำคัญกับโลเกชั่น 
 

Etc.
วัฒนธรรมในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป ทำให้ภาพลักษณ์ของ BonChon ในแต่ละประเทศย่อมต่างกันตามความเหมาะสมของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศเกาหลีและอเมริกา จะเน้นการรับประทานไก่ทอดกับเบียร์ ร้าน BonChon จึงมีลักษณะเป็นบาร์ คนนิยมเข้ามารับประทานเพื่อเชียร์กีฬา ส่วนในฟิลิปปินส์ ที่เป็นประเทศมุสลิม BonChon ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการเปิดร้านในลักษณะของฟาสต์ฟูด ซึ่งมีกว่า 80 สาขาในปัจจุบัน ส่วนในประเทศไทย ร้าน BonChon จะเป็นสไตล์ Casual ง่ายๆ เหมาะสำหรับคนในเมือง 


RECCOMMEND: FRANCHISE

เปิดเทรนด์ 4 Franchise ตัวท้อป! น่าลงทุนปี 2025

ธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดสูงถึง 3 แสนล้านบาท ไม่รวมร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ จึงยังเป็นทางเลือกของการลงทุน แล้วมีแฟรนไชส์อะไรในปี 2025 ที่ควรค่าแก่การลงทุน ไปอัปเดตกันเลย

มัดรวม 4 แฟรนไชส์ตู้กด เทรนด์แรง น่าลงทุน

ธุรกิจตู้กด มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หันไปทางไหนก็เจอ หลายธุรกิจหันมาขยายสู่โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ แต่เปลี่ยนจากหน้าร้านใหญ่โต ย่อส่วนลงมาให้เหลือเพียงตู้กด แต่จะมีแฟรนไชส์ไหนที่น่าลงทุนบ้าง เราได้รวบรวมแฟรนไชส์ตู้กดเจ๋งๆ มาให้ดูกัน

ระวังลูกค้าหนี แบรนด์พัง คู่แข่งแซงหน้า ถ้า SME ยังไม่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทุกปี คาดว่าปี 2567 จะร้อนยิ่งกว่าปี 2566  ประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับทั้งอากาศร้อนจัดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ท่ามกลางวิกฤต ยังมีโอกาส! เมื่อเศรษฐกิจสีเขียว กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว