4 วิธีทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์

 


เรื่อง : กองบรรณาธิการ



    ช่วงเริ่มต้นปีแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงกำลังคิดที่จะขยับขยายธุรกิจ และหนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจคือการแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” เพราะคิดว่าเป็นรูปแบบที่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตและสร้างผลกำไรก็น่าจะมีมากกว่า 

    แต่รู้หรือไม่ว่า การที่จะผลักดันธุรกิจเข้าไปสู่ระบบแฟรนไชส์และประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากธุรกิจที่จะก้าวไปสู่การเป็นแฟรนไชส์ ต้องมีความพร้อมและแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่เช่นนั้นอาจจะสร้างปัญหาให้กับผู้ที่มาซื้อแฟรนไชส์ รวมถึงตัวเองได้ในอนาคต 

    ถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากจะรู้กันแล้วว่า หากคิดที่จะทำแฟรนไชส์ ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี ซึ่งผู้ที่จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครอื่นไกลเขาคือ กูรูธุรกิจแฟรนไชส์ของเมืองไทย ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจแฟรนไชส์มากมายนับไม่ถ้วน  



• แนวคิดต้องชัดเจน 

    สิ่งแรกที่ ดร.พีระพงษ์บอกไว้ในกระบวนการของการทำแฟรนไชส์ คือ ต้องวางแนวคิดด้าน Business Concept หรือการออกแบบธุรกิจให้ชัดเจนก่อน เช่น คุณทำร้านนี้เพื่ออะไร หรือมีอะไรบางอย่างที่เป็นคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังของสิ่งที่เรากำลังทำ ยกตัวอย่าง กาแฟ ร้านกาแฟบางแบรนด์ถูกวางให้เป็นกาแฟของคนทำงาน ขณะที่บางแบรนด์เป็นกาแฟของครอบครัว หรือเป็นกาแฟเป็นของนักเดินทาง จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่แค่กาแฟเท่านั้น นอกจากนี้ Product Concept ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งต้องโดดเด่นและถ้าวางแนวคิดได้ดี สามารถนำไปสู่การสร้าง Brand Concept ได้อีกด้วย 



• จำเป็นต้องมีร้านต้นแบบ

    สำหรับคนที่คิดที่จะทำแฟรนไชส์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “ร้านต้นแบบ” ขึ้นมาก่อน เพราะร้านจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราใกล้ลูกค้ามากที่สุด และยังเป็นตัวที่ใช้ในการออกแบบกระบวนการให้บริการ หมายความว่า ร้านไม่ได้มีหน้าที่ขายสินค้าอย่างเดียว แต่อาจจะออกแบบมาให้เป็นที่นั่งรับประทาน หรืออะไรก็ตามแต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละธุรกิจ รวมถึงการดีไซน์รูปแบบของร้านค้าหรือจุดจำหน่าย สามารถทำเป็นได้ตั้งแต่ร้านขนาดใหญ่ รถเข็น หรือ คอนเนอร์ เป็นต้น


• ออกแบบกระบวนการทำงาน 

    นอกเหนือจาก Business Concept ที่ชัดเจนแล้ว การสร้างระบบงานก็เป็นหัวใจสำคัญของแฟรนไชส์ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ก่อนที่จะทำแฟรนไชส์ ผู้ประกอบการมักจะเป็นนักการตลาดที่เก่ง ในที่นี้หมายถึง Product Marketing หรือการทำการตลาดบนตัวสินค้า หรือ 4 P (Product, Price, Place, Promotion) นั่นเอง แต่สำหรับระบบแฟรนไชส์แล้วยังไม่เพียงพอ 4P เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น คนที่จะสร้างแฟรนไชส์ได้ต้องเข้าสเตปที่สอง คือ ต้องรู้จัก “ออกแบบกระบวนการทำงาน” หรือ Systematic Management คือต้องรู้จักบริหารจัดการ ให้เป็นรูปแบบให้ได้ นักการตลาดส่วนใหญ่มักจะตายตอนเป็นนักระบบ หลายคนมัวแต่สร้างแบรนด์ พอลงมือทำจริงๆ กลับควบคุมคุณภาพไม่ได้ ที่ผ่านมาธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคุมคุณภาพไม่ได้ เพราะสร้างแต่การตลาดแต่ไม่ได้สร้างระบบงานรองรับ 


• รู้จักบริหารความสัมพันธ์

    อีกเรื่องหนึ่งสำหรับใครก็ตามที่สามารถเริ่มต้นในธุรกิจแฟรนไชส์ได้แล้ว ต้องรู้จักวิธีการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซีด้วย เนื่องจากแฟรนไชส์เป็นกระบวนการที่ต้องมีการแบ่งผลประโยชน์ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งผลประโยชน์ คือ คุณช่วยเขา เขาก็จ่ายผลประโยชน์กลับมา ดังนั้น ในธุรกิจแฟรนไชส์หากคุณไม่สามารถสร้างประโยชน์กลับมาได้อย่างต่อเนื่อง ตัวแฟรนไชซอร์เองก็จะลำบาก ฉะนั้นแล้วการบริหารความสัมพันธ์ในระบบแฟรนไชส์ นับเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ด้วย 

    ถึงตรงนี้จะเห็นแล้วว่า การก้าวเข้าไปสู่ระบบแฟรนไชส์นั้นไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำได้ ดร.พีระพงษ์ มักจะพูดเสมอๆ ว่า “ก่อนที่สร้างเครื่องบิน คุณต้องสร้างจักรยานก่อน” เวลาที่คุณบอกว่าจะสร้างแฟรนไชส์ ก็เหมือนคุณบอกว่าจะสร้างเครื่องบินนั่นเอง ดังนั้น ก่อนที่จะไปสร้างเครื่องบิน ลองสร้างจักรยานก่อนดีกว่าไหม ค่อยๆ ทำไป เมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจคอนเซ็ปต์ของจักรยาน คุณก็จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของเครื่องบิน แม้จะฟังดูเหมือนเป็นปรัชญา แต่นี่คือเรื่องจริงที่ ดร.พีระพงษ์ฝากทิ้งท้ายไว้

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

RECCOMMEND: FRANCHISE

เปิดเทรนด์ 4 Franchise ตัวท้อป! น่าลงทุนปี 2025

ธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดสูงถึง 3 แสนล้านบาท ไม่รวมร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ จึงยังเป็นทางเลือกของการลงทุน แล้วมีแฟรนไชส์อะไรในปี 2025 ที่ควรค่าแก่การลงทุน ไปอัปเดตกันเลย

มัดรวม 4 แฟรนไชส์ตู้กด เทรนด์แรง น่าลงทุน

ธุรกิจตู้กด มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หันไปทางไหนก็เจอ หลายธุรกิจหันมาขยายสู่โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ แต่เปลี่ยนจากหน้าร้านใหญ่โต ย่อส่วนลงมาให้เหลือเพียงตู้กด แต่จะมีแฟรนไชส์ไหนที่น่าลงทุนบ้าง เราได้รวบรวมแฟรนไชส์ตู้กดเจ๋งๆ มาให้ดูกัน

ระวังลูกค้าหนี แบรนด์พัง คู่แข่งแซงหน้า ถ้า SME ยังไม่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทุกปี คาดว่าปี 2567 จะร้อนยิ่งกว่าปี 2566  ประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับทั้งอากาศร้อนจัดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ท่ามกลางวิกฤต ยังมีโอกาส! เมื่อเศรษฐกิจสีเขียว กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว