มัดรวม แหล่งทุนพัฒนาธุรกิจ งบน้อย ก็โตได้

TEXT : Sir.nim


     อยากพัฒนาธุรกิจเติบโต “ทุนวิจัยพัฒนาธุรกิจ” คือ หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ ที่นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณการลงทุนแล้ว ยังมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญคอยให้แนะนำ เป็นพี่เลี้ยงให้อีกด้วย หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่มีงบไม่มาก นี่คือ หนึ่งในทางออกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจได้เลยทีเดียว

     ซึ่งหากลองค้นหาข้อมูลให้ดีๆ จะพบว่ามีหน่วยงานอีกมากที่มีทุนสนับสนุนธุรกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอาจแยกย่อยตามประเภทธุรกิจ เช่น อาหาร, เกษตร, เทคโนโลยี หรือการพัฒนาเฉพาะด้าน เช่น บรรจุภัณฑ์ ก็เป็นได้ วันนี้เลยมีตัวอย่างทุนช่วยพัฒนาธุรกิจจากหน่วยงานต่างๆ มาฝากกัน

1. Ted Fund

     Ted Fund หรือ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund : TED Fund) เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยลดภาวะความเสี่ยงด้านการลงทุนทางธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีทั้ง TED Youth Startup (ยุววิสาหกิจ) ที่เป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษา และสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป โดยมีหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม” หรือ “TED Market Scaling Up” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

     รายละเอียด : สมทบบางส่วน สูงสุด 90% วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51, ต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิตหรือให้บริการที่ออกสู่ตลาดและมียอดขายแล้ว นอกจากนี้เป็นโครงการที่มีแผนการอยากขยายตลาดทั้งใน/ต่างประเทศ

     ช่องทางติดต่อ : www.tedfund.mhesi.go.th

2. iTap

     iTap หรือ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and technology assistance program : ITAP)  คือ หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีภารกิจหลัก คือ เพื่อสร้างกลไกเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) เข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) โดยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่ Industry 4.0

     รายละเอียด : สนับสนุนค่าใช้จ่ายสูงสุด 50% ของโครงการ  แต่ไม่เกิน 400,000 บาทต่อโครงการ (ตามเกณฑ์การสนับสนุนของโปรแกรม ITAP) โดยผู้รับทุนต้องเป็น SMEs ตามนิยามสสว.

     ช่องทางติดต่อ : www.itap.nstda.or.th

3. บพข.

     บขพ. หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็น 1 ใน 3 หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใน สอวช. เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน โดย บพข. เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ ไปจนถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

     รายละเอียด : การให้ทุนมีหลายประเภท ทั้งหน่วยงานรัฐ, สถาบันศึกษา, สถาบันวิจัย สำหรับผู้ประกอบการจะมีทั้งแบบการให้ทุนร่วม (Co-sponsor) ภายใต้ MOU ผู้ให้ทุน ได้แก่ บพข. ลง in cash (เงินสด) บางส่วน และบริษัทเอกชนที่ให้การสนับสนุน ร่วมทุนไม่น้อยกว่า 50% และแบบทุนเอกชน โดยผู้ให้ทุน คือ บพข. ลง in cash (เงินสด) บางส่วน (จะไม่มีบริษัทเอกชนร่วมให้ทุนด้วย) โดยผู้รับทุน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการต้องออกทุนร่วม ไม่น้อยกว่า 25% แบ่งเป็น Cash (เงินสด) ไม่น้อยกว่า 10% และKind (ส่วนสนับสนุนอื่นที่ไม่ใช่เงินสด) ไม่น้อยกว่า 15%

     ช่องทางติดต่อ : www.pmuc.or.th

4. NIA

     NIA หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ และทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม

     รายละเอียด : การสนับสนุนด้านการเงินของ NIA เป็นการสนับสนุนในรูปแบบของ "เงินทุน" โดยเป็นทุนให้เปล่า (Grant) ไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุน

     ช่องทางติดต่อ : www.nia.or.th

5. สอวช.

     สอวช. หรือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนไทย โดยมีมาตรการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐ, มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการในการทำวิจัยร่วมกัน โดยเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการของประเทศ สามารถตอบสนองต่อการสร้างความรู้ใหม่ ยกระดับนวัตกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ แก้ปัญหาเชิงเทคนิค ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยี หรือมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

     รายละเอียด : ผู้ให้ทุน (สอวช.) มีอำนาจในการพิจารณาให้ทุน 5 ประเภท ได้แก่ 1.ทุนอุดหนุนแบบให้เปล่าทั้งหมด (Grant) 2.ทุนอุดหนุนแบบให้เปล่าบางส่วน (Matching Grant) 3.ทุนอุดหนุนแบบกำหนดเงื่อนไขการใช้คืน (Recoverable Grant) 4.ทุนอุดหนุนเป็นเงินให้กู้ยืมแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระคืน (Loans) และ 5.ทุนอุดหนุนแบบอื่นตามที่ผู้ให้ทุนกำหนด ขึ้นอยู่กับข้อเสนอโครงการที่ยื่นขอรับทุน และผู้ให้ทุนอาจพิจารณาให้ทุนตามข้อเสนอโครงการทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ตามเห็นสมควร

     ช่องทางติดต่อ : www.nxpo.or.th

ข้อคิดขอเงินทุน

     โดยทั้งนี้ ศุภลักษณ์ บัวโรย ประธาน​วิสาหกิจ​ชุมชน​บ้านสบายใจ​ เจ้าของแบรนด์ Dpasanaa (ดีปาษณะ) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยแห่งเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม หนึ่งในผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์การขอทุนจากภาครัฐ ได้มาเล่าประสบการณ์ และเคล็ดลับ ไว้ดังนี้

     “ในการทำธุรกิจของเรา ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต คือ เรามีการขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งด้วย เช่น สวก. , สวทช. iTap, วช., สถาบันอาหาร กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานท้องถิ่นอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีสัดส่วนการสนับสนุนแตกต่างกันไป อย่าง สวก. สนับสนุน 80/20 เราออก 20% ถ้า iTap คือ 50/50 คนละครึ่ง

     โดยการที่เราขอทุนสนับสนุน มีข้อดี คือ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ และยังมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ รูปแบบการสนับสนุนมีทั้งเงินทุน การร่วมทุน รวมถึงการให้คำปรึกษา ซึ่งถ้าเราลงทุนทำเองทั้งหมด อาจไม่ได้แบบนี้ ซึ่งในแต่ละปีแต่ละหน่วยงานเขาจะมีประกาศออกมาว่าปีนี้จะสนับสนุนธุรกิจด้านอะไร เน้นที่เรื่องไหนเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการควรติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ ว่าโครงการใดบ้างที่เข้ากับธุรกิจของเรา ซึ่งในบางส่วนอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เราก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ จึงอยากให้มองเป็นอีกตัวช่วยสำคัญของการทำธุรกิจ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: FINANCE

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs จัดสัดส่วนการเงิน ปรับธุรกิจผลิตสินค้าตามกระแสโลก เจาะตลาด ‘รักษ์โลก-สูงวัย-ฮาลาล’ รับมือสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร แนะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ แต่การขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ

เปิด 5 Trick วางแผนการเงินเฮง! รับปีใหม่ ขาดทุนเป็นศูนย์ ทำกำไรทะลุเป้า

ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

เปิดผลสำรวจ ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงกลายเป็น Zombie Firm 35% 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด