EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs จัดสัดส่วนการเงิน ปรับธุรกิจผลิตสินค้าตามกระแสโลก เจาะตลาด ‘รักษ์โลก-สูงวัย-ฮาลาล’ รับมือสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ

     จากผลสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) Credit Standards ของสินเชื่อธุรกิจ SMEs ในรอบปี พบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 ดัชนีมีค่าลบมาโดยตลอดสะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อยาก (มาตรฐานเข้มงวด) อัตราการปฎิเสธสินเชื่อบางช่วงของปีสูงขึ้นไปถึง 50% ของจำนวนการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั้งระบบ เนื่องจากมีการตรวจประเมินรายได้เข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพเพียงพอที่จะชำระคืนหนี้หรือไม่

     อัตราการปฎิเสธสินเชื่อสอดคล้องไปกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ SMEs ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น เนื่องจากมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน มีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ และไม่มีหลักประกัน ทำให้อาจไม่ได้รับโอกาสในการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินโดยทั่วไป

     ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้ ขาดทักษะในการเตรียมความพร้อมขอสินเชื่ออย่างถูกวิธี ไม่เข้าใจหลักการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน การขอสินเชื่อไม่ยากแต่จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อได้แก่

     1. Character ความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ ธนาคารจะดูประวัติส่วนตัว ประวัติทางการเงินว่ามีความน่าเชื่อถืออย่างไร มีการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีประวัติการชำระคืนเงินกู้อย่างไร

     2. Capital สินทรัพย์หรือเงินทุนในการทำธุรกิจ สถาบันการเงินจะตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ขอสินเชื่อว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้าง เช่น เงินเก็บ บ้าน รถ และที่ดิน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขอสินเชื่อจะมีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่มีหนี้สินเกินตัว

     3. Capacity ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นการดูรายละเอียดของธุรกิจว่าเป็นธุรกิจอะไร มีภาวะ
การแข่งขันและด้านการตลาดเป็นอย่างไร สร้างรายได้และกำไรได้อย่างมั่นคงยั่งยืนหรือไม่ การเติบโตของธุรกิจมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

     4. Collateral หลักประกันและผู้ค้ำประกัน การขอสินเชื่อที่มีจำนวนเงินสูง สถาบันการเงินอาจขอหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน หรือบุคคลค้ำประกันเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าหากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้
จะมีทรัพย์สินหรือบุคคลที่จะรับผิดชอบหนี้ได้

     5. Conditions ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถของกิจการ จะเป็นการพิจารณาบริบทและปัจจัยภายนอกที่จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ เช่น การเมือง สังคม และภัยธรรมชาติ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะมีเงื่อนไขปลีกย่อยในการปล่อยสินเชื่อแตกต่างกันให้เหมาะสมกับแต่ละกิจการ

     “นอกจาก 5C แรกแล้ว จะบวกเพิ่มไปอีก 2C ที่ธนาคารมุ่งหวังที่จะเห็นในผู้ประกอบการยุคใหม่ นั่นคือ Courage ผู้ประกอบการที่กล้าออกจาก Comfort Zone ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบสนองโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และ Creativity ผู้ประกอบการที่มีไอเดียในการทำธุรกิจ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ” ดร.รักษ์ กล่าว

     ดร.รักษ์ กล่าวว่า หากเจาะให้ลึกลงไปอีก สัดส่วนทางการเงินของผู้ประกอบการที่สถาบันการเงิน
มักนำมาพิจารณาในการขอสินเชื่อคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ไม่ควรจะเกิน 3 เท่า อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) ควรจะมากกว่า 1 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) อย่างน้อยจะต้องอยู่ในระดับ 1.1-1.2 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ควรอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt To Income Ratio : DTI) ไม่เกิน 30-40% ยิ่งต่ำยิ่งดี

     “การพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ควรดูประกอบกัน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งการบริหาร สภาพคล่อง การบริหารหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งแนวโน้มการสร้างยอดขาย การทำกำไร ภาวะอุตสาหกรรม การแข่งขันจะได้ทำให้เห็นภาพธุรกิจได้รอบด้านและชัดเจนมากขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว

     นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรปรับธุรกิจให้แข่งขันได้ตามเทรนด์โลกปัจจุบัน โดยตลาดการค้าขายได้เปลี่ยนแปลงไปตามความยั่งยืน “ตลาดคนรักษ์โลก” เป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าตลาดสูง โดยเฉพาะตลาดการจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืน โดย Fortune Business Insights คาดการณ์ว่า ตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงอยู่ที่ราว 22.4% ต่อปี ในช่วงปี 2567-2575 (CAGR) จาก 20,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 เป็น 105,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2575 ทั้งนี้ การจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การติดตามมลพิษทางอากาศและน้ำ การจัดการ Carbon Footprint การติดตามพืชผล การตรวจจับเพลิงไหม้ การบริหารพื้นที่ป่า อาคารสีเขียว การบริหารสภาพดินและความชุ่มชื้น การทำเหมืองและสำรวจเหมืองอย่างยั่งยืน การจัดการน้ำ การติดตามและพยากรณ์สภาพอากาศ เป็นต้น สินค้าตอบโจทย์คนรักษ์โลก เช่น Recycled Product, Plant-based Food, EV และ Eco-tourism

     “ตลาดผู้สูงวัย” หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) คาดว่า ภายในปี 2573 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า โลกจะมีผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) มากถึง 1 ใน 6 ของประชากร โดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต ดังนั้นเป็นโอกาสของสินค้าตอบโจทย์ผู้สูงวัย เช่น อาหารเคี้ยวง่าย/ย่อยง่าย หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟัง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น เพิ่มขนาดตัวอักษรบนฉลาก เพื่อให้อ่านได้ชัดเจนและสามารถเปิดใช้ผลิตภัณฑ์ได้ง่าย

     “ตลาดฮาลาล” เป็นตลาดที่มี Market Size ขนาดใหญ่ โดยชาวมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ราว 2 พันล้านคน
มากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก กระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย 243 ล้านคน ปากีสถาน 241 ล้านคน อินเดีย 200 ล้านคน สินค้าตอบโจทย์ชาวมุสลิม ได้แก่ อาหารฮาลาล เครื่องสำอางฮาลาล ท่องเที่ยว
ฮาลาล

     ดังนั้นแม้จะมีการปรับปรุงสัดส่วนทางการเงินได้อย่างเหมาะสมแล้ว การปรับตัวผลิตสินค้าหรือเจาะตลาดที่มีการเติบโตและเป็นเทรนด์ของโลกด้วยการดำเนินการ 2P คือ ปรับปรุงกระบวนการผลิต (Process) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Products) เพื่อให้เกิด 4P ที่แข่งขันได้ ได้แก่ ราคา (Price) ตลาด (Place) กำไร (Profit) และโปรโมชัน (Promotion) ทางการเงินจากธนาคาร หลักการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก

     EXIM BANK มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับผู้ประกอบการที่สนใจโดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย
ที่พร้อม Go Green สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ EXIM BANK Contact Center โทร. 0 2169 9999  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

เปิด 5 Trick วางแผนการเงินเฮง! รับปีใหม่ ขาดทุนเป็นศูนย์ ทำกำไรทะลุเป้า

ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

เปิดผลสำรวจ ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงกลายเป็น Zombie Firm 35% 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน