TEXT : Nittaya Su.
นับถอยหลังไปอีกไม่กี่วัน ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่พุทธศักราชใหม่ 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ธุรกิจได้อย่างมั่นคง ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ จึงอยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ อะไรที่เคยพลาดพลั้งไปแล้วในปีนี้ก็ค่อยเอาใหม่ในปีหน้า และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน
ทำไมต้องวางแผนการเงิน?
- เพื่อป้องกันธุรกิจไม่ให้สะดุด
- เพิ่มกระแสเงินสดให้เกิดขึ้นในธุรกิจ
- คาดการณ์รายรับ-รายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ
- เตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้
- สร้างโอกาสธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง
5 Trick บริหารการเงินธุรกิจไม่ให้สะดุด ขาดทุนเป็นศูนย์ กำไรงาม
1. แยกบัญชีเงินส่วนตัว และธุรกิจออกจากกัน
เป็นข้อแรกๆ ที่ควรทำ และถูกพูดถึงกันมาเสมอๆ แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการหลายคนที่อาจมีเงินทุนไม่มาก ทำให้บางครั้งต้องเจียดเงินส่วนตัวมาลงทุนเพิ่มในธุรกิจ หรือบางครั้งต้องหยิบยืมเงินธุรกิจออกมา เวลาที่ฉุกเฉินก็มี ไม่เป็นไรลองมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง ยังไม่สาย หากใครกำลังทำพฤติกรรมแบบนี้อยู่ (และปฏิเสธว่าอาจเลิกทำไม่ได้) ให้ลองแบ่งการเงินให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น เปิดบัญชีใหม่ เพื่อแยกเงินส่วนตัว และเงินธุรกิจออกจากกัน หากต้องมีความจำเป็นในการใช้เงินจริงๆ ที่ต้องหยิบยืมออกมา ไม่ว่าจากเงินธุรกิจ หรือส่วนตัว ก็ให้มีการจดบันทึก วางแผนการชำระอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เช่น ยืมเงินธุรกิจออกมา 50,000 บาท ก็ต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่า จะใช้คืนภายใน 5 เดือนๆ ละ 10,000 บาท การจดบันทึกออกมาเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยบังคับ และทำให้เห็นภาพสิ่งที่ต้องทำและรับผิดชอบได้ชัดเจนขึ้น หรือสำหรับใครที่มีการกำหนดเงินเดือนให้ตัวเองแล้ว ก็ยิ่งดี แต่หากบางช่วงธุรกิจต้องสะดุดอีก มีความจำเป็นต้องดึงเงินเดือนมาโป๊ะ ก็ทำเป็นแผนให้ชัดเจนเช่นกัน ว่าต้องจ่ายคืนให้กับตัวเองเดือนละเท่าไหร่ เพื่อเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเอง อาจให้เพิ่มเป็นดอกเบี้ยด้วยก็ได้
2. บัญชีรายรับ-รายจ่าย จดบันทึกง่ายๆ แต่ทำให้เห็นภาพใหญ่ได้
นับเป็นพื้นฐานสำคัญไม่ว่าชีวิตส่วนตัว หรือการทำธุรกิจ เพราะการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ทุกบาททุกสตางค์ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถมองเห็นภาพได้ว่า แท้จริงแล้ว เราหมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง บางทีอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่ไม่กี่สิบบาทที่คิดว่าไม่สำคัญ แต่รวมกันหลายๆ ครั้ง ก็กลายเป็นเงินก้อนได้ ยังไงการรู้ที่มาที่ไปของเงินทุกบาท ก็อาจช่วยให้เราสามารถมองเห็นช่องโหว่ของธุรกิจได้ เช่น การซื้อของสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น, ลูกค้าชำระเงินเข้ามาช้า หรือโอกาสที่มาจากการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ เช่น สินค้าตัวนี้ขายดี ควรหามาขายเพิ่ม หรือสามารถนำมาผลิตเองได้ไหม เป็นต้น
3. ตรวจเช็คสภาพคล่องของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
ดูได้จาก กระแสเงินสด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจเลย เพราะคือ ต้นทุนที่ต้องนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้ เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องเกิดขึ้นในทุกเดือน ทั้งต้นทุนการผลิตสินค้า, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าจ้างพนักงาน ฯลฯ โดยผู้ประกอบการสามารถประเมินค่าใช้จ่ายออกมาคร่าวๆ ได้ว่า แต่ละเดือนต้องมีเงินอยู่ในมือเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เช่น บางครั้งเรามีรายได้จากการขายสินค้ามากก็ตาม แต่ลูกค้าอาจดีลขอเครดิตจ่ายภายใน 30 วัน ทำให้ถึงจะมียอดตัวเลขรายได้รออยู่แล้ว แต่กว่าจะได้เข้ามาก็ต้องรอเกือบเป็นเดือน ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องได้ เจ้าของกิจการก็ต้องตรวจเช็คแล้วว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไหม หากไม่พอ จะไปหามาเพิ่มจากที่ไหน กู้ธนาคาร, หาลูกค้าช่องทางอื่นเพิ่ม หรือทำอะไรให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และเมื่อมีรายได้เข้ามา จึงค่อยนำมาชดใช้คืน
4. เงินทุนสำรอง มีไว้อุ่นใจกว่า
ไม่ว่าจะการเงินส่วนตัว หรือธุรกิจเองก็ตาม การเก็บออมเอาไว้ล่วงหน้า คือ สิ่งที่ทำให้อุ่นใจได้ เมื่อยามฉุกเฉิน หรือวิกฤตที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นในแต่ละเดือนที่มีรายได้เข้ามาผู้ประกอบการควรแบ่งเปอร์เซ็นต์บางส่วน ไว้เป็นเงินเก็บให้กับธุรกิจด้วย ซึ่งอาจเก็บสำรองได้ ทั้งรูปแบบเงินสดในธนาคาร หรือสินทรัพย์อื่นๆ โดยหากเป็นการลงทุน ควรเป็นรูปแบบสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้รวดเร็ว เพื่อนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน และ สินทรัพย์ระยะยาว ที่สามารถเก็บไว้ทำกำไรได้ด้วย มีออมเอาไว้ ยังไงก็ดีกว่ามาแก้ในภายหลังแน่นอน แต่ทั้งนี้ควรติดตามผลการลงทุนตลอดเวลาด้วย ว่าคุ้มค่ากับที่ลงไปหรือเปล่า หรือมีความเสี่ยงอะไรเข้ามาที่อาจทำให้สูญเงิน หรือลดมูลค่าลงได้
5. วางแผนงบการเงินล่วงหน้า
แม้เราจะมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่รัดกุม, แยกเงินส่วนตัว และเงินธุรกิจออกจากกันได้ชัดเจนแล้ว รวมไปถึงเงินทุนสำรองแล้วก็ตาม แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การวางแผนงบการเงินธุรกิจเอาไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะเป้าหมายของธุรกิจไม่ได้มีแค่ขาดทุน หรือกำไรเท่านั้น แต่เพื่อธุรกิจเติบโตไปข้างหน้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนอนาคตด้วยว่า ในปีต่อๆ ไป เราจะมีการลงทุนอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น การผลิตสินค้าตัวใหม่, เจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่, การขยายสาขา, การทำตลาดต่างประเทศ, สร้างโรงงานผลิตใหม่ เพื่อจัดตั้งทำงบประมาณขึ้นมา ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกเท่าไหร่, ต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะงบการเงิน จะทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นภาพธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าอนาคตต่อไปเราจะทำอะไร เป็นใคร และไปได้ไกลมากแค่ไหนนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี