TEXT : กองบรรณาธิการ
Main Idea
- ปัญหาหลักในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SME ก็คือ การขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และประวัติธุรกรรมการเงิน
- ล่าสุดได้มีการคิดสินเชื่อรูปแบบใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาผ่าน 2 ปัจจัยใหม่ ได้แก่ 1. สถิติการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และ 2. ยอดการขนส่งผ่านระบบ COD หรือ ชำระเงินปลายทาง
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ SME ทุกวันนี้ ก็คือ การขาดแคลนแหล่งเงินทุนในการช่วยพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ โดยจากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) ระบุว่าผู้ประกอบการ SME ไทยมากกว่าร้อยละ 80 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขาดประวัติธุรกรรมทางการเงิน
จาก Pain Point ที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามหาวิธีแก้ไข เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ จนเกิดเป็นรูปแบบการกู้เงินระบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ต้องมีการเดินบัญชี ก็สามารถกู้เงินได้
ทำไม SME จึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
ก่อนจะไปพูดถึงระบบกู้เงินรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ลองมาดูกันก่อนสิว่าเหตุใดในระบบการกู้เงินแบบเดิม จึงทำให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก
โดยทุกครั้งที่ผู้กู้ทำเรื่องเสนอขอกู้เงิน สิ่งที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ มักถามถึง หรือต้องการดูก่อนให้การอนุมัติ ก็คือ
- หลักทรัพย์ค้ำประกัน
- การเดินบัญชีธนาคารอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี
- การจดทะเบียนการค้าอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี
- การเขียนแผนธุรกิจ
- การบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจที่ถูกต้อง
ซึ่งผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักทรัพย์มากพอ และส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเตรียมเอกสารข้อมูล เพราะบางคนต้องดูแลกิจการและจัดการด้วยตัวเองเกือบทุกอย่าง ทำให้ไม่มีเวลา สิ่งเหล่านั้นจึงมักเป็นอุปสรรค ทำให้หลายคนแม้จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะผ่อนชำระคืนได้ แต่ก็ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากบางข้อมูล เช่น ประวัติ สถิติด้านการเงินและบัญชีจากการทำธุรกิจบน Marketplace ธนาคารก็ยังไม่รองรับนำมาประกอบการพิจารณา แถมรูปแบบสินเชื่อบางอย่างถึงแม้จะสามารถกู้ได้ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการ เช่น การอนุมัติเงินกู้ระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยสูงหรือ การอนุมัติเงินกู้ในระยะยาว
เงินกู้สายพันธุ์ใหม่ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ไม่ต้องเดินบัญชี ก็กู้ได้
จากปัญหาด้านการเตรียมเอกสารทางการเงิน ไปจนถึงหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็น Pain Point ทำให้ SME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ หลายหน่วยงานและบริษัทต่างช่วยกันคิดค้นรูปแบบวิธีการพิจารณาการกู้เงินแบบใหม่ที่เหมาะกับผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น โดยปัจจุบันเท่าที่เริ่มมีตัวอย่างออกมาให้เห็นมีอยู่ 2 รูป ได้แก่
1. การใช้ฐานข้อมูลจากยอดขายของออนไลน์
โดยแทนที่จะใช้ Statement หรือการเดินบัญชีธนาคาร ก็เปลี่ยนมาใช้ข้อมูลสถิติจากออร์เดอร์หรือยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์แทน ทำให้สามารถประเมินรายได้ประจำทุกเดือนของผู้กู้ ไปจนศักยภาพการชำระหนี้ และเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
ตัวอย่าง เช่น “สินเชื่อ ZORT X Investree” ที่เป็นการจับมือร่วมกันของ ZORT แพลตฟอร์มบริหารจัดการออร์เดอร์และสต็อกออนไลน์ครบวงจร และ Investree บริษัทสตาร์ทอัพ Crowdfunding Platform ที่เพิ่งประกาศความร่วมมือไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการร้านค้าที่ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม ZORT ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 4,500 ร้าน ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนระดมทุนได้ โดยไม่ต้องไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่สามารถใช้ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน สถิติด้านการซื้อขายและบัญชีบน Marketplace ของ ZORT มาใช้ประโยชน์ในการขอเงินทุนจากได้ ซึ่งสามารถระดมทุนขั้นต่ำต่อรายได้ตั้งแต่ 100,000 บาท ไปจนถึงสูงสุด 5 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6% - 26% ผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน
โดยวิธีการ คือ Investree จะใช้คะแนนเครดิตที่เป็น Data-Driven Model มาเป็นตัวกำหนดวงเงินระดมทุนให้สอดคล้องกับรายได้และสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการนั้นๆ ทำให้จำนวนเงินที่ระดมทุนของบริษัทแต่ละรายจะแตกต่างกัน
คุณสมบัติ สำหรับผู้ที่ต้องการระดมทุน คือ ต้องจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และใช้แพลตฟอร์ม ZORT มาแล้วไม่ต่ำกว่า 24 เดือน และมี ยอดขายจาก Marketplace Integration เฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.investree.co.th
2. การใช้ข้อมูลการขนส่งสินค้า
นอกจากการใช้ข้อมูลสถิติยอดขายของร้านค้าออนไลน์แต่ละแห่งแล้ว ยอดการขนส่งสินค้าก็เป็นอีกทางเลือกใหม่ที่สถาบันการเงินเริ่มนำมาใช้พิจารณาเงินกู้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งสินค้าในรูปแบบการชำระเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) เพราะทำให้สามารถเห็นยอดรายได้แท้จริงที่เข้ามาจากร้านค้าได้ และยังเป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่องทางการค้าออนไลน์ เนื่องจากช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหลอก หรือไม่ได้สินค้า และยังเป็นการเพิ่มโอกาสได้ลูกค้าใหม่จากผู้ที่ไม่สะดวกจ่ายเงินออนไลน์ด้วย
ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดในรูปแบบการกู้ยืมเงินลักษณะนี้ ได้แก่ “สินเชื่อ COD ไปรษณีย์ไทย” ที่เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างไปรษณีย์ไทย และ SME D Bank ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยจับมือร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ มาแล้ว เช่น การจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการให้ลูกค้า COD ของไปรษณีย์สามารถเข้าถึง “สินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์” และ “สินเชื่อตั้งหลัก” ได้
สำหรับสินเชื่อ COD ไปรษณีย์ไทย มีการตั้งวงเงินไว้กว่า 300 ล้านบาท โดย SME D Bank จะนำข้อมูลการใช้บริการผ่าน COD ของไปรษณีย์ไทยมาเป็นเกณฑ์วิเคราะห์ในการให้สินเชื่อ โดยเปิดกว้างให้กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินสูงสุด 300,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้น 1.05% ต่อเดือน
คุณสมบัติ ผู้ขอกู้ เพียงแค่เจ้าของกิจการมียอดขายผ่าน COD หรือสมัครใช้บริการชำระเงินปลายทางกับไปรษณีย์ไทย เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป ไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน ก็สามารถขอยื่นกู้ได้ เพียงสมัครผ่าน Wallet@POST เปิดรับคำขอสินเชื่อตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิ.ย. 66 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.smebank.co.th
จากตัวอย่างสินเชื่อที่ได้นำมาเล่าให้ฟังนั้น นับเป็นนิมิตรหมายอันดีแสดงให้เห็นว่า ต่อไปในอนาคตวันข้างหน้าเราอาจได้เห็นผลิตภัณฑ์รูปแบบทางการเงินใหม่ๆ ที่มีความเหมาะสมและช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
นอกจากการคิดค้นรูปแบบวิธีการพิจารณาการกู้เงินแบบใหม่ที่เหมาะกับผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้นแล้ว ปัจจุบันรูปแบบการขอสินเชื่อยังมีความหลากหลาย แยกย่อย และเจาะลึกลงไปเฉพาะแต่ละธุรกิจมากขึ้นด้วย เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้สนใจประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยกู้ของ SCB Abacus ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเงินกู้ “เงินทันเด้อ” ที่ปัจจุบันได้จับมือร่วมกับ 3 พันธมิตรธุรกิจ ได้แก่ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว, เทรนด์ดี้วอช และชิปป็อป เพื่อสนับสนุนลูกค้าของแต่ละธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น สร้างผู้ประกอบการ SME ไทยให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี