โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี กับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย

 

     จุดอ่อนสำคัญของธุรกิจขนาดเล็กนั่นคือโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกิดโปรดักต์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ หนึ่งในนั้นคือหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงซึ่งเป็นทั้งแหล่งเงินทุนชั้นดีของกิจการและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ลงทุน

     รายงานของ International Finance Corporate หรือ IFC ในปี 2017 พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กหรือ MSME ของไทยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 10% ของมูลค่าจีดีพีรวมของไทยที่มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในย่านเดียวกัน

     ขณะที่ภาพรวมตลาดการปล่อยสินเชื่อเพื่อ SME นั้น ปัจจุบันไทยมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 3 ล้านบริษัท 99% หรือประมาณ 2.9 ล้านเป็น SME และมากกว่า 2 ล้านบริษัทนั้นเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถึงแม้ในตลาดจะมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อสูง 

     แต่บริษัทขนาดเล็กยังคงเจอปัญหาเข้าไม่ถึงเงินกู้เหมือนเดิม จากเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกลายเป็นข้อจำกัด เช่น ประวัติชำระหนี้ไม่ดี ไม่ยอมชำระหนี้ มีหนี้สินติดค้าง หรือชำระเงินล่าช้า

หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ทางเลือกของ SME

     การระดมทุนด้วยหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Bond) จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีในการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากใช้วิธีการพิจารณาวงเงินที่ต่างไปจากการกู้เงินจากธนาคารแบบปกติ อีกทั้งยังมีขั้นตอนการพิจารณาที่สั้นกว่าแต่ยังอยู่ภายใต้การพิจารณาจากนักการเงินที่มีโมเดลการป้องกันความเสี่ยงในรูปแบบเดียวกับสถาบันการเงินทั่วไป

     ขณะเดียวกันเงินทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจยังมาจากนักลงทุนทั่วไปไม่ใช่สถาบันการเงินจึงมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนมากกว่า ประกอบกับการที่ภาครัฐออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจคราวด์ฟันดิง ทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น

     ทั้งนี้มูลค่าธุรกิจคราวด์ฟันดิงในประเทศไทยปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และน้อยมากเมื่อเทียบกับช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME สะท้อนว่าผู้ประกอบธุรกิจยังมีความเข้าใจในเครื่องมือการเงินประเภทนี้ไม่มาก

     อย่างไรก็ตามโอกาสที่ตลาดนี้จะเติบโตได้จึงยังมีอยู่มาก เนื่องจากเงินสดสภาพคล่องที่อยู่ในภาคธนาคารของไทยยังมีอยู่เป็นปริมาณมากและนักลงทุนที่มีฐานะการเงินดีรวมถึงมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การเงินที่ซับซ้อนหรือ High Net Worth ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะเข้าลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดถ้าหากธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้นั้นเป็นธุรกิจที่ดี

     แต่ในโอกาสก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกันการลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนล่าช้า และมีความเสี่ยงที่จะมีเงินสูญเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์นี้ควรจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์นี้ในวงเงินที่จำกัดและกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยหลากหลายบริษัท เพื่อป้องกันการกระจุกตัว

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้