อย่าให้การเงินสะดุดเพราะสงคราม Cryptocurrency แก้ปัญหานักท่องเที่ยวรัสเซียใช้จ่ายในไทยไม่ได้?

 

     ทันทีที่รัสเซียถูกถอดออกจากระบบ SWIF (Society for Worldwide Financial Interbank Telecommunication) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระดับโลก ที่ครอบคลุมสถาบันการเงิน 11,000 แห่งจาก 200 ประเทศทั่วโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากภาคการเงินการธนาคาร ระบบเศรษฐกิจและประเทศคู่ค้าของรัสเซียแล้ว ประชาชนชาวรัสเซียย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกันทั้งในรัสเซียเองและชาวรัสเซียในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นแม้รัสเซียอาจไม่ได้เป็นคู่ค้าหลักของเราแต่ในส่วนของการโรงแรมและการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทย

     ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า นักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางมาประเทศไทย โดยในปี 2013 หรือ 2556 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากที่สุด จำนวน 1.7 ล้านคน ในปี 2019 หรือ 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด มีนักท่องเที่ยวรัสเซีย จำนวน 1.48 ล้านคน คิดเป็นรายได้โดยประมาณ 96,200 ล้านบาทและนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าประเทศไทยสะสมมากเป็นอันดับ 1 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งหมด (พ.ย. 64-28 ก.พ. 65) จำนวน 63,249 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, Thailand Pass) คิดเป็นรายได้ 4,100 ล้านบาท โดยประมาณ

     ในด้านค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรัสเซียจากสถิติปี 2019 นักท่องเที่ยวรัสเซียใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวัน 4,099 บาท และอัตราการพำนักเฉลี่ยที่ 16 วัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 65,000 บาทต่อคนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงที่ผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยวให้ความสนใจมาโดยตลอด

     แต่จากผลของการประกาศยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดของสายการบิน Aeroflot ของรัสเซีย (ไทยเรามีเส้นทางบินตรงจากมอสโกสู่ภูเก็ตด้วยเช่นกันโดยมีมากถึงสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบินในช่วงฤดูหนาว) ร่วมกับการถูกจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงินจากการถูกถอดออกจากระบบ SWIF ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียประสบปัญหาในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งคนที่อยู่ในระหว่างตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว คนที่กำลังท่องเที่ยวและคนที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วโลก สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ณ ปัจจุบันนี้ปัญหาของการถูกจำกัดการทำธุรกรรมของนักท่องเที่ยวรัสเซียเริ่มแสดงออกและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งจากข้อมูลจากสถิติด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 - 4 มี.ค. 65 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าภูเก็ตมากเป็นอันดับหนึ่งโดยมีจำนวนถึง 54,774 คน แต่ ณ ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวรัสเซียเริ่มประสบปัญหาในด้านชำระเงิน โดยนักท่องเที่ยวไม่สามารถใช้บัตรเครดิตชำระค่าห้องพัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ตามปกติเพราะสถาบันการเงินของรัสเซียถูก Sanction

     ในด้านของผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยว นี่คืออีกโจทย์ความท้าทายใหม่หลังจากที่เพิ่งประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาหมาดๆ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้ประกอบการทำได้ในส่วนของธุรกิจโรงแรมคงเป็นเรื่องของการให้นักท่องเที่ยวทั้งแบบ F.I.T และ นักท่องเที่ยวที่จองผ่าน Travel Agency ทำการ “ชำระเงินล่วงหน้า” ก่อนเดินทางเข้าพัก แต่นั่นคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีมาตรการคว่ำบาตรด้านการเงินอะไรออกมาและส่งผลกระทบต่อชาวรัสเซียอีก ในระยะยาวปัญหานี้น่าจะต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเพราะเมื่อมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย ต้นทุนการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะลดลงไปจนทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ตามปกติไปด้วย

แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

     เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “หัวใจหลัก” ของปัญหานี้คือการที่ “นักท่องเที่ยวไม่สามารถใช้จ่ายได้ตามปกติ” ดังนั้นวิธีการแก้ไขคือ “ต้องทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้จ่ายได้อย่างปกติอีกครั้ง” แต่จะทำอย่างไรในเมื่อระบบการเงินของรัสเซียถูก Sanction อย่างหนัก หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือการใช้ “Cryptocurrency” ในการชำระค่าโรงแรม ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอื่นๆ

     ด้วยความที่ Cryptocurrency มีจุดขายในด้านความเป็น Decentralization คือ “การไม่ยึดติดกับความเป็นศูนย์กลางที่มีผู้ควบคุม” (อาจจะไม่ทุกเหรียญเพราะบางเหรียญก็ยังมีความเป็น Centralization) ทำให้ลดความเสี่ยงในการถูก Sanction ไปได้ (ยกเว้นการ Sanction เจ้าของเหรียญและ Exchange ต่างๆ จากหน่วยงานที่มีอำนาจ) อย่างกรณีของ Binance หนึ่งใน Exchange ที่มีมูลค่าการ Trade มากที่สุดในโลกที่ออกมาประกาศชัดเจนถึงการยึดหลัก “Decentralization” ในโลกของ Cryptocurrency โดยจะไม่ทำการ “ปิดบัญชีผู้ใช้งานในประเทศรัสเซียทั้งหมด” โดยบริษัทประกาศในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ว่า “บริษัทจะปิดบัญชีของคนรัสเซียเฉพาะชื่อที่โดนคว่ำบาตรและจะไม่แบนบัญชีของผู้ใช้งานทั้งประเทศในรัสเซียโดยไร้เหตุผล” นี่อาจจะเป็นโอกาสในการใช้ทางเลือกใหม่ในการชำระเงินของนักท่องเที่ยวรัสเซียก็เป็นได้ เพราะแม้ก่อนหน้านี้รัสเซียเคยประกาศระงับการใช้งานคริปโทฯ ในประเทศ รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการทำเหมืองขุดในประเทศ แต่ล่าสุดได้มีความพยายามในเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเพื่อให้รัสเซียมีเครื่องมือในการต่อสู้กับการถูกคว่ำบาตรด้านการเงิน

     อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือรัสเซียเป็นประเทศขุด Bitcoin ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลเมืองของประเทศถือ cryptocurrency มูลค่ากว่า 2.14 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งประมาณ 12% ของมูลค่าสินทรัพย์ crypto ทั่วโลก (https://th.investing.com/news/cryptocurrency-news/article-68512)

     นี่คืออีกหนึ่ง “โอกาส” หากภาคการท่องเที่ยวของไทยเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมในกรณีที่รัสเซียปรับให้การใช้ Cryptocurrency เป็นสิ่งที่ชาวรัสเซียสามารถทำได้” แทนการใช้เงินรูเบิลที่ปัจจุบันมีการลดลงของมูลค่าเรื่อยๆ

    กรณีนี้เพื่อรักษาความได้เปรียบและหาแนวทางในการรับมือกับปัญหาการไม่สามารถใช้จ่ายได้ตามปกติของนักท่องเที่ยวรัสเซียหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องหันมาพิจารณาและทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและหน่วยงานด้านการกำกับดูแลกิจการด้านการเงินของไทย รวมทั้งหน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะนี่อาจเป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหาด้าน “การไม่สามารถใช้จ่ายได้” ของนักท่องเที่ยวรัสเซีย “ถ้าไทยทำได้ก่อนย่อมได้เปรียบคู่แข่งประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ” โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อาจเป็นไปในลักษณะคือ

1. การเลือกเฉพาะเหรียญ Cryptocurrency ที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับโลก ผ่านการ Audit จากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น Certik หรือ Fairyproof และเปิดให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถนำมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ทั้ง ชำระค่าห้องพัก ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ โดยในส่วนของผู้ประกอบการอาจมีการให้ความรู้ความเข้าใจและการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเหรียญโดยหน่วยงานรัฐ ร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่าง ธปท. กลต. เป็นต้น ซึ่งเหรียญหลักๆ ที่สามารถนำมาใช้งานได้ เช่น BTC ETH USDT USDC BUSD BNB ซึ่งเป็นเหรียญสากลที่รู้จักกันดีในระดับโลก แม้จะมีปัจจัยด้านการบริหารจัดการราคาเหรียญที่มีพฤติกรรม “ขึ้นลง” แบบน่าหวาดเสียว แต่เราอาจต้องเทียบข้อดีข้อเสียของการยึดติดกับระบบเก่ากับการปรับเข้าหาระบบใหม่ว่าอันไหนคุ้มค่ากว่ากันเพื่อใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหานี้เพราะแม้ตอนนี้สถานการณ์นี้แม้จะเพิ่งเกิดในภูเก็ตแต่หากเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ปัญหาอาจขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้

2. การออกเหรียญ Token สำหรับท่องเที่ยว โดยการเสนอขาย Token ล่วงหน้าให้กับนักท่องเที่ยวรัสเซียได้ซื้อไว้เป็น Credit ก่อนนำมาใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยต้องมีการวางแผนสื่อสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับรายละเอียดของ Token ให้กับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียได้ทราบโดยชัดเจน วิธีนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้ล่วงหน้าและลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องทำการซื้อ Token ก่อนนำมาใช้ในประเทศไทย ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวรัสเซียคือ “การใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศไทยจะไม่มีอุปสรรค” สำหรับผู้ประกอบการเองก็มั่นได้ว่าจะได้รับชำระเงินอย่างแน่นอนเพราะเหรียญ “Token สามารถนำไปแลกกลับเป็นเงินสดได้” ซึ่งระบบการออก Token นี้อาจมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเป็นเจ้าภาพและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานด้านการเงินเพื่อควบคุมปริมาณ Supply ของ Token นอกจากนี้ควรเพิ่ม Demand ของ Token ที่จะออกมาด้วยการอนุญาตให้สามารถนำ Token ไปเสนอขายใน Exchange ได้ด้วย ด้านของผู้ประกอบการก็ต้องมีการเรียนรู้ระบบการ Redeem เหรียญเป็นเงินสด เป็นต้น

     แต่ความท้าทายต่อจากนี้คือกฎระเบียบของภาครัฐที่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการพิจารณาในประเด็นที่มีการ “ห้ามนำ Cryptocurrency มาชำระค่าสินค้าและบริการ” ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงกฎระเบียบกันอยู่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งนี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะถือเป็น “Sandbox และเป็น ต้นแบบ” ในการทดลองการนำ Cryptocurrency มาใช้งานจริง เพื่อให้ประเทศสามารถเข้าสู่ผลประโยชน์ในเศรษฐกิจในอนาคตที่ Cryptocurrency จะก้าวขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญได้

 

 www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs จัดสัดส่วนการเงิน ปรับธุรกิจผลิตสินค้าตามกระแสโลก เจาะตลาด ‘รักษ์โลก-สูงวัย-ฮาลาล’ รับมือสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร แนะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ แต่การขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ

เปิด 5 Trick วางแผนการเงินเฮง! รับปีใหม่ ขาดทุนเป็นศูนย์ ทำกำไรทะลุเป้า

ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

เปิดผลสำรวจ ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงกลายเป็น Zombie Firm 35% 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด