เงินกู...หรือ...เงินกู้...!?

 

 
 
 
เรื่อง : วิทยา องค์วิริยะพันธ์ 
        wittaya.ong@gmail.com 
 
 
     ก่อนอื่นต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่านหากมองว่าเป็นคำหยาบคาย ทว่าสองคำนี้ถือว่าเป็นหลักสำคัญในทฤษฎีทางการเงินสำหรับธุรกิจในส่วนของโครงสร้างเงินทุน เพราะเงินทุนสำหรับดำเนินธุรกิจนั้น ก็มาจากสองแหล่งนี้เท่านั้นเอง แล้วจะเลือกแบบไหนดีถึงจะเหมาะสมกับธุรกิจของเราล่ะ
 
    ในการทำธุรกิจนั้นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น หรือดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม ต่างก็จำเป็นต้องคำนึงถึงแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกิจอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละบุคคลหรือแต่ละธุรกิจที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะเลือกใช้เงินกูและเงินกู้ในสัดส่วนเท่าไหร่
 
     ในทางทฤษฎีการเงิน เงินกู้ หมายถึง เงินที่กู้ยืมมาจากบุคคลภายนอก โดยเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว (ไม่นับเงินกู้ระยะสั้น) ส่วนใหญ่แล้วก็มากู้ยืมจากธนาคารนั่นเอง เงินกู้ถูกจัดให้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเพราะว่าดอกเบี้ยและเงินต้นที่ต้องจ่ายคืนได้ถูกกำหนดไว้แล้ว อีกทั้ง สรรพากรก็ยังใจดียอมให้ดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายทำให้เสียภาษีน้อยลงได้สำหรับธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล
 
     ขณะที่เงินกู (เงินจากเจ้าของหรือจากผู้ถือหุ้น) นั้นถือว่าต้นทุนสูงกว่า เพราะเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืนในลำดับสุดท้ายเสมอไม่ว่าตอนแบ่งกำไรจากการดำเนินธุรกิจหรือตอนเลิกกิจการ อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดด้วยว่าจะต้องแบ่งกำไรให้ อาจจะเก็บกำไรเอาไว้ไม่แบ่งให้เลยก็ได้ ทำให้ถูกมองว่าความเสี่ยงในการได้รับผลตอบแทนและเงินคืนนั้นสูงกว่าจึงต้องได้ผลตอบแทนสูงขึ้นมาชดเชย ด้วยเหตุนี้ทำให้ในทางทฤษฎีส่งเสริมให้กู้เงินมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากว่ายังไม่ทำให้ธุรกิจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้นกับภาระหนี้ที่มีอยู่
 
     แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีหลายปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้เงินทุนจากทั้งสองแหล่งในสัดส่วนเท่าไหร่ดี บางครั้งก็ตัดสินใจยากบางครั้งก็ง่าย ปัจจัยต่างๆ นั้น ก็ประกอบด้วย ลักษณะเฉพาะของธุรกิจ ลักษณะนิสัยของเจ้าของหรือผู้บริหาร และโครงสร้างทางภาษี เป็นต้น ในที่นี้จะขออธิบายในส่วนที่สำคัญๆ ให้เป็นแนวทางพิจารณา
 
    ลักษณะเฉพาะทางธุรกิจ หมายถึงลักษณะของทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยทั่วไปแล้วหากเป็นธุรกิจที่มีอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารโรงงาน อาคารโรงแรม  จะสามารถใช้เงินกู้ได้มาก เนื่องจากเงินกู้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการจับต้องไม่ได้ แถมสำนักงานก็ยังต้องเช่า แบบนี้ก็มักจะหาเงินกู้ได้ยากกว่า เพราะเจ้าของเงินกู้มองว่า ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่จะมาใช้เป็นหลักประกันช่วยปกป้องเงินต้น หากเกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายคืนได้
 
    ลักษณะนิสัยของเจ้าของหรือผู้บริหาร ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถแบ่งกว้างๆ ได้สองแบบ จากพฤติกรรมที่มีต่อความเสี่ยง แบบแรกเป็นคนกล้าเสี่ยง มักจะเชี่ยวชาญมองเกมธุรกิจทะลุปรุโปร่งคาดการณ์ได้แม่นยำ จึงกล้าตัดสินใจใช้เงินกู้เป็นสัดส่วนที่มากกว่า ส่วนลักษณะนิสัยอีกแบบมักเรียกว่าเป็นคนอนุรักษนิยม ก็คือเป็นคนที่กลัวความเสี่ยง ก็จะใช้เงินกู้จำนวนน้อยหรือไม่ใช้เงินกู้เลยแล้วแต่ระดับของความกลัว แบบนี้ก็สบายใจดี มีกำไรก็มาถึงเจ้าของรับไปเต็มๆ
 
     ส่วนลักษณะโครงสร้างทางภาษีนั้น ก็มีภาษีอยู่หลายแบบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ แต่ภาษีที่จะกล่าวถึงนั้นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ท่านผู้อ่านบางท่านคงจะงงว่าเหตุใดจึงเป็นภาษีตัวนี้ เรื่องมันก็คือว่า ธุรกิจระดับ SME ส่วนใหญ่ก็มักจะพยายามหลีกเลี่ยงภาษีกันอยู่แล้ว ทำให้ในการค้าขายจะไม่มีการออกเอกสารใบแจ้งหนี้หรือใบเสร็จรับเงินใดๆ เป็นหลักฐาน
 
     ถ้าเป็นการซื้อ-ขายผ่านบริษัทหรือมีการออกเอกสารถูกต้องก็จะต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ยอดรายได้ที่เป็นการค้าขายที่มีการออกเอกสารและมีภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จึงถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ทำให้เจ้าของเงินกู้ไม่อาจทราบได้ว่าจริงๆ แล้ว ยอดรวมรายได้ทั้งหมดแล้วเป็นเท่าใดแน่ จึงเลือกให้กู้เงินโดยอิงกับข้อมูลเท่าที่จะสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ธุรกิจบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้สินค้านั้นไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มักจะถูกมองว่ามีช่องโหว่ให้หลีกเลี่ยงภาษีได้ง่ายกว่าอีก จึงมักจะไม่ค่อยได้รับการพิจารณาให้กู้เงินได้มาก
 
     สัดส่วนของเงินกู้และเงินจากเจ้าของที่เหมาะสมนั้น ในทางทฤษฎีสามารถคำนวณได้ไม่ยาก โดยยึดหลักว่าเลือกสัดส่วนที่ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุนทั้งสองส่วนออกมาต่ำที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้วธุรกิจที่เหมือนหรือคล้ายกันก็มีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไปด้วยปัจจัยดังที่ได้กล่าวไป ดังนั้น สัดส่วนของเงินกู้ที่เหมาะสมก็คือ สัดส่วนที่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดนั่นเอง
 
     นอกจากนี้ การที่มีส่วนเงินกู้ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินทุนจากเจ้าของนั้น ยังทำให้เราสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนน่าจูงใจหรือมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น ขณะที่ธุรกิจที่มีสัดส่วนเงินกู้เป็นสัดส่วนที่สูงอยู่แล้วจะทำให้โอกาสกู้เงินเพิ่มทำได้ยาก และมักจะถูกบังคับให้ต้องเพิ่มเงินทุนในส่วนของเจ้าของให้มากขึ้นด้วย
 
     สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ใช้เงินทุนจากแหล่งใดก็ตาม ขอเชิญชวนให้ดำเนินการให้ถูกต้องทางกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องการเสียภาษี เพราะหากถูกตรวจสอบพบว่ามีความผิดจะทำให้ต้องเสียภาษีย้อนหลังและค่าปรับต่างๆ เป็นจำนวนมากได้ และการทำในสิ่งที่ถูกต้องก็มีส่วนช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
 
 
create by smethailandclub.com
 
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน