ชวน SME มาเช็กลิสต์! การเงินส่งท้ายปี อย่ามัวแต่มองธุรกิจ ให้มองดูกระเป๋าสตางค์ตัวเองด้วย

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

     ในแต่ละปีเรายังมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุภาพประจำปี ก็แล้วทำไมสำหรับการเงินจะไม่ จึงอยากชวนผู้ประกอบการมาเช็กลิสต์ตัวเองกันก่อนเริ่มต้นศักราชใหม่ทั้งการเงินส่วนบุคคลและธุรกิจ มีอะไรบ้างลองไปดูกันเลย

สะสมความมั่งคั่งได้ดีแค่ไหน

     หาเงินมาได้เยอะก็จริงอยู่ แต่เคยลองคิดไหมว่าจริงๆ แล้วในแต่ละเดือนเราอาจเอาเงินที่หามาได้ให้กับคนอื่นไปหมดหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นชำระหนี้แบงก์ จ่ายภาษี ค่าประกัน ช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า หรือภาระรับผิดชอบส่วนตัว แล้วสุดท้ายเราเหลือให้ตัวเองอยู่เท่าไหร่ ซึ่งหากจะให้ดีในแต่ละเดือนเราควรมีเงินออมและเงินลงทุนเหลือเก็บให้ตัวเองอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เข้ามา โดยมีสูตรคำนวณดังนี้

     (เงินออม+เงินลงทุน) ÷ (รายรับ/รายได้ต่อเดือน) × 100

     ตัวอย่างเช่น

     (1,000 + 4,000) ÷ (35,000 + 5,000) × 100 = 12.5 %

     จากตัวอย่างแสดงว่าเรามีการสะสมความมั่งคั่งต่อเดือนได้ดีทีเดียว

มีหนี้เกินตัวหรือเปล่า

     หลายคนหาเงินมาได้เยอะ แต่ก็มีหนี้ตามมาเยอะเช่นกัน ดังนั้นจริงๆ แล้วในแต่ละเดือนเราควรจ่ายชำระหนี้หรือสร้างหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เรามีหนี้เยอะเกินตัวอยู่หรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วจากร้อยเปอร์เซ็นต์ที่หามาได้ เราไม่ควรมีหนี้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งหนึ่งของรายได้ นี่คือ กรณีที่มีภาระหนัก เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แต่หากเป็นหนี้ในการบริโภคทั่วไป 15 - 30 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเยอะเกินไปแล้ว โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้

     รวมรายจ่ายหนี้ ÷ รายรับ × 100

     ตัวอย่างเช่น

     (4,000+5,000) ÷ (30,000) × 100 = 30 %

แสดงว่าเรามีภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง ยังสามารถบริหารจัดการได้

ถ้าไม่มีรายได้ จะมีเงินใช้ไปอีกนานแค่ไหน

     เงินส่วนนี้เรียกอีกชื่อว่าอัตราส่วนเงินสำรอง (เผื่อฉุกเฉิน) เพื่อดูว่าเรามีความพร้อมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ซึ่งเราควรจจะมีเงินสำรองเอาไว้อย่างน้อย 3 - 6 เดือนหรือหกเท่าของค่าใช้จ่าย โดยมีสูตรคำนวณดังนี้

     ทรัพย์สินสภาพคล่อง (เงินฝาก กองทุนรวม ตราสารหนี้ ทองคำ) ÷ รายจ่ายรวมต่อเดือน

     ตัวอย่างเช่น

     (30,000 + 100,000 + 200,000) ÷ 33,000 = 10 (เดือน)

     ถ้าเป็นแบบนี้อาจถือว่าเยอะไปหน่อย คือ เก็บเยอะเกินไป โดยไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น อาจต้องลองขยับขยายไปลงทุนอื่นๆ บ้าง

โดยทรัพย์สินที่เหมาะกับการเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • มีสภาพคล่อง พร้อมเบิกถอน หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีที่มีความจำเป็น
  • มีความผันผวนต่ำ ไม่เสี่ยงต่อการสูญหายเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้

     ตัวอย่างทรัพย์สินสภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด, เงินฝากสถาบันการเงินทั้งฝากประจำและฝากออมทรัพย์, เงินฝากสหกรณ์, กองทุนรวมตลาดเงิน, กองทุนรวมตราสารหนี้, สลากออมทรัพย์, ทองคำ เป็นต้น โดยในที่นี้การลงทุนในหุ้นต่างๆ ไม่ควรนับมารวมด้วย เนื่องจากอาจมีความผันผวนไม่คงที่

ในแต่ละปีเรารวยขึ้น หรือจนลง

     โดยสามารถวัดได้จากความมั่งคั่งสุทธิ หรือทรัพย์สินสุทธิ นั่นเอง ซึ่งก็คือ ทรัพย์สินที่ปลอดภาระหนี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ในตลอดระยะเวลาของการสร้างรายได้ เพื่อวัดดูว่าจริงๆ แล้วเราสะสมอะไรมากกว่ากันระหว่าง “ทรัพย์สิน” กับ “หนี้สิน” เช่น บางครั้งเราอาจเห็นเพื่อนซื้อบ้านหลังละ 15 ล้าน อย่าเพิ่งตกใจคิดว่าเขามีสินทรัพย์เยอะ จริงๆ แล้วอาจกู้แบงก์มา 12 ล้านก็ได้ เทียบกับบางคนซื้อบ้าน 5 ล้าน แต่จ่ายสด คนซื้อบ้านหลังละ 5 ล้านย่อมมีภาษีดีกว่า โดยมีสูตตคำนวณดังนี้

     ทรัพย์สิน - หนี้สินที่อยู่ในชื่อเราทั้งหมด = ความมั่งคั่งสุทธิ

     *โดยความมั่งคั่งสุทธิควรเป็นบวกและเพิ่มขึ้นทุกปีจากการสะสม

     ตัวอย่างเช่น

     (5,000,000) – (3,000,000) = 2,000,000 บาท

     สรุปจบท้ายให้ฟังกันอีกรอบ หากอยากมีสภาพคล่องการเงินที่ดีให้จำง่ายๆ คือ การออมการลงทุนควรมีเกิน 10 เปอร์เซ็นต์, อัตราส่วนชำระหนี้จากรายได้ไม่ควรเกิน 50 เปอร์เซ็นต์, เงินสำรองควรมีมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน และความมั่งคั่งสุทธิควรเป็นบวกนั่นเอง

ที่มา : FWD

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน