เรื่อง อมรเทพ จาวะลา
ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
เศรษฐกิจไทยขณะนี้เปรียบได้กับคนไข้ที่กำลังป่วย มีปัญหาหลายโรครุมเร้า ทำให้ GDP แทบไม่โตในไตรมาสที่หนึ่ง หมอเศรษฐกิจเราแม้เก่ง วินิจฉัยโรคได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยป่วยจากโรคหนี้ครัวเรือนสูง การลงทุนล่าช้า การส่งออกหดตัว และอีกสารพัดโรค แต่หมอของเรากลับให้ยาเพียงตัวเดียว คือการลดดอกเบี้ยเพื่อหวังลดต้นทุนการลงทุนและการบริโภค รวมทั้งหวังผลให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นการส่งออก
แม้การลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมาจะมีผลให้บาทอ่อนค่าบ้าง แต่ยังไม่พลิกให้การส่งออกเดือนเมษายนกลับมาเป็นบวกได้ อีกทั้งตัวเลขการลงทุน การบริโภคที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานในวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ยังไม่ฟื้น และหากเงินเฟ้อของเดือนพฤษภาคมติดลบอีก ก็จะมีคำถามกลับเข้ามาว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือยัง
แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะยังคงตอบว่าไม่ฝืด แต่คงพอจะเสียงอ่อนลงบ้าง เพราะรู้ดีว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นจากรายได้ที่แน่นิ่ง แล้วแรงกดดันในการแก้ปัญหาหรือโรคทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ก็คงกลับมาหาหมอคนเดิม ที่แม้เข้าใจทุกปัญหาทุกโรค แต่ก็คงจะจ่ายยาตัวเดิมให้ไปรักษา นั่นคือการลดดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 10 มิถุนายน หรือก็หนีไม่พ้นรอบถัดไป
แต่หมอของเราอาจลืมไปว่าคนไข้ที่ป่วยมานาน ให้ยามาหลายครั้งก็ยังไม่หาย อาจมีความเสี่ยงที่จะดื้อยาหากใช้ยาตัวเดิมไปนานๆ ผลจากการดื้อยานี้นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าอาการกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ซึ่งมีผลให้แม้ว่าลดดอกเบี้ยลงไป การบริโภคและการลงทุนก็ไม่เพิ่ม แม้ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นติดกับดักสภาพคล่อง แต่สัญญาณหลายๆ ตัวเริ่มมีให้เห็น
เช่น การที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เติบโตมากนัก ทั้งในรูปสินเชื่อธุรกิจและการบริโภค แม้ดอกเบี้ยลดลง และยังไม่ต้องกล่าวถึงการที่ทางธนาคารพาณิชย์ลังเลและใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก แม้ทางกนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 29 เมษายนมานานก่อนหน้าก็ตาม
สุดท้ายแล้วประสิทธิผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบถัดไปจะมีมากน้อยเพียงไร ยาวิเศษนี้จะรักษาได้ทุกโรคหรือไม่คงต้องติดตามกัน แต่ที่แน่ๆ คนไข้ที่กำลังป่วยหนักกำลังต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน และกำลังร้องขอยาตัวใหม่ๆ ก่อนจะมีอาการข้างเคียงจากฤทธิ์ยา ที่ทำให้เกิดโรคฟองสบู่ได้ จากการที่คนขาดแรงจูงใจในการออม และเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากจนเกินไป เนื่องจากไม่สามารถอดทนต่อผลตอบแทนระดับต่ำจากดอกเบี้ยได้
แต่ทว่า ยาตัวใหม่นี้อาจต้องสั่งโดยหมอคนอื่น คำถามที่มีคือ ทำไมคนไข้เศรษฐกิจที่ป่วยอยู่นี้กลับไม่เปลี่ยนหมอ ทำไมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ จึงยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้ง เรายังพบความเห็นที่หมอท่านอื่นๆ บอกให้หมอการเงินอย่าง ธปท. ไปใช้ยาลดดอกเบี้ยแต่อย่างเดียว
โรงพยาบาลนี้ยังมีหมอการคลัง และหมอเก่งๆ อีกมาก แต่อาจเข้าใจได้ถึงข้อจำกัดในการเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ และการป้องกันและดูแลปัญหาการทุจริต ซึ่งอาจจะยังไม่พร้อมรักษาเศรษฐกิจไทยที่ป่วยอยู่ได้มากนัก แต่ก็นับเป็นเรื่องดีที่หมอการคลังและโรงพยาบาลนี้เลือกที่จะไม่ใช้ยาประชานิยมมากระตุ้นการบริโภค เพราะแม้จะเป็นการช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่อาจทำให้คนไข้ล้มฟุบลงมาใหม่ และป่วยหนักกว่าเดิมจากภาวะหนี้ภาครัฐที่สูงขึ้น
สุดท้ายเราคงต้องรอให้หมอท่านอื่นๆ เร่งเข้ามาช่วย เพราะหมอการเงินอย่างธปท. คงเหลือยาอีกไม่กี่เม็ด อัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงระดับต่ำที่สุดที่ 1.25% แล้ว คงช่วยประคองคนไข้ได้อีกไม่นาน แต่ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจไทยที่ป่วยอยู่นี้จะทนได้นานสักเท่าไร ก่อนจะล้มทรุดตัวลง หรือคงต้องกลับไปบอกหมอธปท. ให้ช่วยจ่ายยาใหม่ที่ไม่ใช่การลดดอกเบี้ย แต่จะเป็นอะไรนั้น คนไข้ต้องไปถามหมอเองครับ