ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้ ทางรอด SME ที่มีรายจ่ายเยอะ แต่ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย
 
 

         สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่สิ้นสุดลงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการจำนวนมากต้องประสบปัญหากับการชำระหนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเสนอรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้จากเจ้าหนี้หลายรายให้เหลือเพียงแค่รายเดียวเพื่อที่จะต่ออายุให้กับกิจการยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้


         ทั้งนี้รูปแบบการรวมหนี้ของสถาบันการเงินที่ต่างกันในอดีตมักจะเกิดขึ้นกับสินเชื่อประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อแก้ไขปัญหาภาระหนี้ที่มีเจ้าหนี้มากเกินไปซึ่งลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้และดอกเบี้ยแยกกันในแต่ละแห่ง แม้ว่าจะจ่ายด้วยอัตราขั้นต่ำแล้วยังอาจจะเป็นภาระสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำ ซึ่งการรวมหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลสามารถทำได้ง่ายเพราะเป็นเพียงหนี้ส่วนบุคคล


         แต่การรวมหนี้ในรูปแบบของสินเชื่อภาคธุรกิจสามารถทำได้ยากกว่าเนื่องจากมีความซับซ้อนในแง่ของการวิเคราะห์มูลหนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายอาจจะปล่อยสินเชื่อในรูปแบบที่ต่างกันเช่น บางรายปล่อยกู้ระยะสั้น บางรายปล่อยกู้ระยะยาว บางรายปล่อยสินเชื่อหมุนเวียน ทำให้การรวมหนี้ของธุรกิจโดยเฉพาะ SME ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะยากลำบากในการที่เจ้านี้แต่ละรายจะต้องมาเจรจาด้วยกัน





         แต่ในสภาวะที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดซึ่งเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและกินระยะเวลานานมาต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ดูแลระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินจึงได้เข้ามาลดขั้นตอนที่เคยยุ่งยากและจัดโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบภายใต้วิธีการใหม่


          ข้อดีของการรวมหนี้จากสถาบันการเงินมากกว่าหนึ่งแห่งให้เหลือเพียงแห่งเดียวก็คือภาระหนี้ที่ลดลงไม่ว่าจะเป็นการได้พักจ่ายเงินต้นและพักจ่ายดอกเบี้ยรวมถึงการได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงบางส่วน


         นอกจากนี้ยังสามารถลดอัตราการชำระหนี้ต่อเดือนลงไปได้ ช่วยเพิ่มระยะเวลาการชำระหนี้ให้นานขึ้นด้วยการแปลงหนี้ระยะสั้นให้กลายเป็นหนี้ระยะยาวซึ่งจะช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนที่มากขึ้นให้ยังคงประกอบธุรกิจต่อไปได้





          ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถขอเข้าโครงการรวมหนี้ได้จะต้องเป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่มีเจ้าหนี้มากกว่าสองรายขึ้นไปทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จะต้องไม่เป็นหนี้เสียกับเจ้าหนี้อย่างน้อยหนึ่งรายและจะต้องไม่อยู่ภายใต้การฟ้องร้องดำเนินคดี


        ประเภทธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้คือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเช่น โรงแรม สปา ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเช่นโรงงานผลิตต่างๆ และธุรกิจการค้าขาย





        ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการช่วยลดเวลาในการเจรจาหนี้กับเจ้าหนี้ที่มีอยู่หลายรายแล้วยังช่วยให้กิจการยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ ช่วยลดภาระหนี้ลงและยังไม่ถูกบันทึกว่าเป็นหนี้เสียกับทางเครดิตบูโรอีกด้วย


          ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อไปได้ที่ธนาคารเจ้าหนี้หรือที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th/drbiz 
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน