รู้จัก “Debt Crowdfunding” เครื่องมือเสริมสภาพคล่องฉุกเฉิน ช่วย SME ปลดล็อกเรื่องการเงินแบบเร่งด่วน

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





      ในภาวะที่เกิดวิกฤตภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ต่างมีความต้องการที่จะเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แต่สำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็กหรือขาดหลักทรัพย์ที่จะมาค้ำประกัน โอกาสที่จะได้รับเงินกู้จากธนาคารจะมีน้อยลง ทำให้เกิดเครื่องมือเสริมสภาพคล่องรูปแบบใหม่นั่นคือ Debt Crowdfunding
 
 
 
     ทั้งนี้ Debt Crowdfunding มีความแตกต่างจาก Equity Crowdfunding ก็คือเป็นโปรดักต์ประเภท “หุ้นกู้” ซึ่งทั่วไปจะออกได้เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ แต่ ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้มีผู้ประกอบการ SME ที่สามารถออกหุ้นกู้และสามารถเสนอขายให้กับบุคคลทั่วไปได้ ขณะที่ Equity Crowdfunding จะเป็นการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนมาถือหุ้น



 
 
       ข้อดีของ Debt Crowdfunding ก็คือผู้ลงทุนรู้ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือหุ้นกู้ตั้งแต่ขั้นตอนการนำเสนอขาย อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการลงทุนที่น้อยกว่าคือตั้งแต่หลักเดือนจนถึงหนึ่งปี ที่สำคัญคือใช้เงินลงทุนเพียงแค่หลักพันบาทก็สามารถลงทุนได้ แต่หากเป็น Equity Crowdfunding จะใช้ระยะเวลาลงทุนที่นานกว่าและมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ
 
 
      โดยหุ้นกู้ที่ออกจะอยู่ในประเภท unrated high yield bond อายุตั้งแต่ 1 เดือน – 2 ปี ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผลตอบแทนสูงสุดอาจจะได้ถึง 26 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยเงินลงทุนจะจัดเก็บอยู่ใน Custodian จึงมั่นใจได้ว่าเงินที่ลงทุนจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์   
 
 
      นักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้สูงสุด 100,000 บาทต่อโปรเจกต์และสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี โดยจะต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวเองทางออนไลน์ผ่าน Crowdfunding Portal ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
 
 
      อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของ Debt Crowdfunding ก็คือการผิดนัดชำระหนี้ของ SME แม้ว่า Crowdfunding Portal หรือตัวกลางที่เป็นผู้ตรวจสอบและเสนอขายจะทำการพิจารณาบริษัทที่จะออกหุ้นกู้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม



 
 
         สำหรับ SME ที่ต้องการจะออกหุ้นกู้ผ่าน Debt Crowdfunding ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี มีคู่ค้าที่ดีหรือมีใบแจ้งหนี้ (Invoice Financing) มีธุรกรรมซื้อขายบนระบบออนไลน์ โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียงแค่ 1 ล้านบาทก็สามารถที่จะยื่นขอออกหุ้นกู้ได้
 
 
       วงเงินที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้มีตั้งแต่ระดับ 1 ล้านบาทไปจนถึงระดับสิบล้านบาทขึ้นไป
 
 
      อย่างไรก็ตาม ผู้เสนอขายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับ Crowdfunding ในการเสนอขายที่ระดับ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าเสนอขาย และหากมีผู้ลงทุนต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการนำเสนอ โปรเจกต์จะถูกยกเลิกทันที



 
 
      ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเสอขายหุ้นกู้สามารถติดต่อไปยัง Debt Crowdfunding Portal จากนั้นให้ข้อมูลทางธุรกิจเช่นประเภทธุรกิจ ทุนจดทะเบียน คู่ค้าหรือลูกค้า ที่สำคัญคือต้องแสดง Bank Statement เพื่อให้สามารถวิเคราะห์การไหลเข้าออกของกระแสเงินสดเพื่อที่จะใช้ประเมินความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่จะเสนอขายหุ้นกู้ โดยใช้ระยะเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 1 สัปดาห์ จึงเหมาะสมกับ SME ที่ต้องการสภาพคล่องแบบเร่งด่วนทั้งในด้านดีคือมีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาแต่ขาดเงินทุนหมุนเวียนหรือขาดสภาพคล่องจากปัญหาทางธุรกิจ
 
 
      ในต่างประเทศโมเดลของ Debt Crowdfunding ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและมีอัตราหนี้เสียที่น้อยมาก เชื่อได้ว่าประเทศไทยน่าจะมีโอกาสเติบโตไปในทิศทางเดียวกันในอนาคต
 


 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ SME
 

RECCOMMEND: FINANCE

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs จัดสัดส่วนการเงิน ปรับธุรกิจผลิตสินค้าตามกระแสโลก เจาะตลาด ‘รักษ์โลก-สูงวัย-ฮาลาล’ รับมือสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร แนะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ แต่การขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ

เปิด 5 Trick วางแผนการเงินเฮง! รับปีใหม่ ขาดทุนเป็นศูนย์ ทำกำไรทะลุเป้า

ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

เปิดผลสำรวจ ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงกลายเป็น Zombie Firm 35% 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด