ถอดกลยุทธ์ “แสนสิริ” จับมือ “SCB” เตรียมสินเชื่อพันล้าน ช่วย SME 1.5 พันราย ทุ่มงบซื้อสินค้า 6 พันล้านบาท

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO :  แสนสิริ และ SCB





     รู้ไหมว่าในปีวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง “แสนสิริ” ช่วย SME ไปแล้วกี่ราย? แล้วพวกเขาใช้โมเดลไหนในการช่วยเหลือที่ วิน-วิน ทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างแสนสิริและผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ขณะที่ปีนี้ยังขยายความร่วมมือมาดึงภาคการเงินอย่าง SCB มาร่วมด้วย


     ความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรกับ SME มาหาคำตอบไปด้วยกัน
 
               
เมื่ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ขยับมาช่วย SME รายเล็ก
               

     แสนสิริ คือชื่อของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่มีธุรกิจครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในแบบโครงการเพื่อขาย และโครงการเพื่อเช่า มีกลุ่มธุรกิจบริการอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้บริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร และกลุ่มธุรกิจการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีลูกบ้านอยู่ถึงกว่าแสนครัวเรือน
               

     ตลอดหลายทศวรรษของการทำธุรกิจ พวกเขามีผู้ประกอบการ SME เกี่ยวข้องอยู่ในระบบนิเวศน์ ทั้งเป็นลูกค้า (ลูกบ้าน) และเป็นคู่ค้าที่ทำงานให้กับแสนสิริ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น



           

     ในปีที่ผ่านมาหลังประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แสนสิริออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME อย่างเร่งด่วน ทั้งในกลุ่มลูกบ้าน และคู่ค้ากลุ่มผู้ประกอบการของแสนสิริ โดยเฉพาะปี 2563 ได้ช่วยเหลือ SME ไปแล้วกว่า 900 ราย รวมเป็นวงเงินในการช่วยเหลือ ผ่านการช่วยซื้อสินค้าถึงกว่า 4,000 ล้านบาท           
               

     “จากข้อมูลพบว่า SME ไทยในปี 2563 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศ และมีการจ้างงานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานทั้งหมด แต่วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้ SME ประสบปัญหา ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเขาให้เร็วที่สุด โดยเราพยายามช่วย SME สร้างรายได้ด้วยการซื้อสินค้าตรงกับ SME เพื่อทำให้ยอดขายเขาเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ช่วย SME ไปแล้วกว่า 900 รายหรือประมาณ 4,000 ล้านบาท และยังพยายามสร้างการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านครอบครัวของแสนสิริที่มีอยู่ประมาณแสนครัวเรือน ลูกค้าที่เป็น SME ก็จะได้รับการโปรโมทให้ครอบครัวแสนสิริ ผ่านทาง Social Media ของเรา และช่องทางต่างๆ ที่เรามีอยู่ เรานำพา SME เข้าไปในโครงการต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็น Marketplace หรือแม้กระทั่ง Food truck ที่เข้าไปยังโครงการต่างๆ ของแสนสิริ รวมถึงการผลักดันให้เขาเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อช่วยให้เขาอยู่รอด”


     “อภิชาติ จูตระกูล” ประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บอกการทำงานที่ผ่านมา ในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME  ข้ามผ่านวิกฤต จนต่อยอดมาสู่ความร่วมมือครั้งใหม่ในปีนี้ที่ได้ธนาคาร SCB มาเชื่อมต่อจิ๊กซอว์ด้านการเงิน ในโครงการที่ชื่อ “SANSIRI x SCB: BUILD FOR ALL สร้างไปด้วยกัน”




 
สินเชื่อพันล้าน ช่วย SME 1.5 พันราย ทุ่มงบซื้อสินค้า  6 พันล้านบาท


     “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB คือตัวแทนของภาคการเงินที่มาเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับ SME โดยการผนึกกำลังกับพันธมิตรที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างแสนสิริ ก็เพื่อให้การช่วยเหลือ SME ทำได้กว้างขึ้น
               

     โดยความช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อธุรกิจรวม 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจแก่ SME ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 1.99  เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือนแรก ให้กับกลุ่มลูกบ้านแสนสิริที่ประกอบธุรกิจ รวมถึงคู่ค้ากลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่ายแสนสิริ ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อย่างราบรื่น  2. มอบองค์ความรู้เพื่อเสริมศักยภาพทางด้านดิจิทัลและลดต้นทุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการซัพพลายเชนของแสนสิริ ผ่านการจัดอบรมสัมมนา และ Business Matching เพื่อเปิดโอกาสพบคู่ค้ารายใหม่ของธนาคาร และ 3. สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารให้เข้าสู่แอปพลิเคชัน Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (จีพี) เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางขายการนอกเหนือจากหน้าร้าน ทั้งนี้ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นลูกบ้านของแสนสิริอีกกว่า 1,000 ครอบครัวอีกด้วย
               

     “โควิดครั้งนี้ไม่ใช่เป็นความผิดของใคร และมันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนคาดคิดว่าจะต้องมาเจอ ก็ต้องประคับประคองเพื่อให้ทุกบริษัท หรือว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบและยังต้องการได้รับความช่วยเหลือจากธนาคาร ให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน แสนสิริได้ริเริ่มความคิดที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของตัวเอง ซึ่งธนาคารของเราเองก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันกับแสนสิริ โดยเชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นการจุดประกายที่ทำให้คนที่ยังแข็งแรงอยู่ในสังคม ให้องค์กรขนาดใหญ่มาจับมือกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ประคองธุรกิจผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน” อาทิตย์บอก
               

     โดยกลุ่ม SME เป้าหมายที่โครงการจะเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นคือ 6 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน กลุ่มงานบริการด้านที่อยู่อาศัย และกลุ่มธุรกิจอาหาร
               

     ซึ่งเป็น SME รายเล็กทั่วไป ลูกบ้านแสนสิริที่ประกอบธุรกิจ และคู่ค้ากลุ่มผู้ประกอบการของแสนสิริ โดยจะทำงานภายใต้ 5 กลยุทธ์ คือ 1. สร้างรายได้ให้เพิ่ม (Buy) ด้วยการเข้าซื้อสินค้าจาก SME ที่มีขนาดเล็ก 2. สร้างช่องทางการเข้าถึงลูกค้า (Reach) เช่น การเพิ่มช่องทางการโปรโมทธุรกิจ สินค้า และบริการของ SME ด้วยช่องทางสื่อออนไลน์ของแสนสิริและธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงโปรโมทผ่านแสนสิริแฟมิลี่ที่มีอยู่ในการดูแลกว่าแสนครอบครัว 3. สร้างตลาดใหม่บนโลกออนไลน์ (Transformation) ด้วยการขยายตลาดของ SME ไทยสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เช่น NocNoc.com ตลาดออนไลน์วัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้านครบวงจร, Robinhood แอปพลิเคชั่น Food Delivery เพื่อผู้ประกอบการรายเล็กและ WeChef แพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวม Food Truck ของไทย 4. สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ (Enhance) โดย SCB จะนำ Tech Efficiency Program เข้ามาช่วยด้านการลดต้นทุนให้กับ SME อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. สร้างสภาพคล่อง (Financial Flexibilities) โดย SCB จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อธุรกิจที่ให้กับ SME ด้วยวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท 



               
           
รายใหญ่เป็นพาร์ทเนอร์กับรายเล็กสร้างความสำเร็จร่วมกัน
               

     แสนสิริ เป็นหนึ่งในแบรนด์ใหญ่ที่เลือกทำงานกับ SME มาอย่างต่อเนื่อง โดย “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บอกเราว่า พวกเขาชอบทำงานกับ SME เพราะชอบในความทุ่มเทของผู้ประกอบการ เวลาทำงานก็จะเป็นการดีลกับเจ้าของโดยตรง ทำให้สามารถตัดสินใจได้เร็ว และ SME ยังทำงานได้รวดเร็วและยืดหยุ่นกว่าบริษัทขนาดใหญ่อีกด้วย


     “จะเห็นได้ชัดว่า SME จะมีความทุ่มเท อย่างเวลาเรามีปัญหาอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้ทันที อย่างเรื่องของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ถ้าเราไปคุยกับบริษัทขนาดใหญ่ พวกนี้กว่าจะผ่านขั้นตอน การทำนวัตกรรมหรือว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาจะค่อนข้างยากมาก แต่การทำงานกับ SME พอเขารับโจทย์ไป ก็สามารถเอาไปคิดและทำกระบวนการต่างๆ ให้มันสั้นลงได้ เพราะเราทำงานกับเจ้าของโดนตรงซึ่งสามารถตัดสินใจได้ทันที และต้องบอกว่า ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะทำสินค้านวัตกรรม และมีความแตกต่างได้ แต่ SME ก็สามารถทำได้เหมือนกัน


     ที่สำคัญเวลาเราเติบโตเราก็จะสร้างพาร์ทเนอร์ที่เป็น SME ที่อยู่รอบๆ ตัวแสนสิริให้โตไปกับเราด้วย ซึ่งการสร้างพาร์ทเนอร์สำหรับเรานั้นนับว่าสำคัญมาก และพาร์ทเนอร์ที่อยู่กับเราจะต้องมีการฝึกฝนและเรียนรู้การทำงานไปพร้อมกับเราด้วย อย่างการเพิ่มคุณภาพหรือแม้แต่ในแง่ของการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เพราะฉะนั้น SME จึงมีความสำคัญกับเรามาก และที่สำคัญผมเชื่อว่าในแง่ของภาพรวมระดับประเทศ SME ก็เป็นกำลังสำคัญในแง่ของการเป็นฟันเฟืองให้ประเทศของเรา ซึ่งตัวของเราเองจากนี้ก็จะเน้นเรื่องของการส่งเสริม SME ให้มากขึ้น” เขาบอก


     ด้าน “พิกุล ศรีมหันต์” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า SCB ก็เชื่อในเรื่องเดียวกัน นั่นคือคำว่าพาร์ทเนอร์ ซึ่งบทบาทของธนาคารนอกจากเป็นตัวช่วยในเรื่องการเงิน ก็คือการจับคู่ลูกค้าของธนาคาร ที่มีทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ให้มาสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกัน เช่นเดียวกับความร่วมมือในวันนี้ของพวกเขา


     นี่คือตัวอย่างของการทำธุรกิจยุคใหม่ ที่รายใหญ่และรายเล็กไม่ใช่คู่แข่งกันอีกต่อไป แต่คือพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันได้ และต่างเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันอย่าง วิน-วิน ไม่ต้องมีใครเสียเปรียบใครในวันนี้
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs จัดสัดส่วนการเงิน ปรับธุรกิจผลิตสินค้าตามกระแสโลก เจาะตลาด ‘รักษ์โลก-สูงวัย-ฮาลาล’ รับมือสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร แนะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ แต่การขอสินเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะต้องรู้จักเทคนิค 5C+ ที่สถาบันการเงินใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ

เปิด 5 Trick วางแผนการเงินเฮง! รับปีใหม่ ขาดทุนเป็นศูนย์ ทำกำไรทะลุเป้า

ในภาวะคลื่นลมเศรษฐกิจแย่เช่นนี้ อยากมาชวนตั้งต้นวางแผนระบบการเงินให้ธุรกิจกันใหม่ และสำหรับใครที่เพิ่งกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ได้ใช้เป็นแนวทางป้องกันรัดกุม ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำกันได้ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

เปิดผลสำรวจ ผู้ประกอบการไทยเสี่ยงกลายเป็น Zombie Firm 35% 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การแฝงตัวของ Zombie Firm หรือ บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด