เจษฎา ปุรินทวรกุล
ตั้งแต่ที่คำว่า SME กลายมาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน รวมถึงสถาบันทางการเงิน ต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ช่วยเหลือ และให้ความรู้กับ SME ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกันยกใหญ่
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกนโยบายมาช่วยเหลือผู้ประกอบการมากมาย และนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจเอามากๆ ก็คือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรไม่ว่าจะลงทุนในเขตใดก็ตาม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ ผู้ประกอบการสามารถสั่งเครื่องจักรเข้ามาในประเทศไทยได้โดยได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีอากร โรงงานที่ทำไบโอดีเซลก็สามารถขำเข้าเครื่องจักรได้โดยไม่เสียภาษี เรียกได้ว่าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตทุกชนิด ได้รับการยกเว้นทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีสิทธิภาพเศษได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี ทุกเขตในประเทศไทย
แต่น่าเสียดายที่ นโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มียอดการยื่นคำร้องขอ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2554 มีเพียง 685 โครงการเท่านั้น
ถามว่าในประเทศไทย มีโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอยู่มากน้อยสักเท่าไหร่ ตรงนี้ จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2548 พบว่าในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิน 100,000 แห่ง มาจนถึงวันนี้ จำนวนโรงงานย่อมต้องขยายตัวขึ้นอีกมาก จึงมีข้อสงสัยตามมาว่า แล้วเหตุใด SME จึงไม่เข้าไปขอใช้นโยบายดีๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับการทำธุรกิจของตัวเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร. อรรชกา ศรีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ได้เปิดเผยกับ SME Thailand ว่า จากจำนวนผู้ประกอบการที่มายื่นขอใช้สิทธิ์ไม่ถึงหนึ่งพันรายนี้ เป็นเพราะ SME ส่วนใหญ่ยังกลัวเรื่องการทำบัญชี กลัวถูกตรวจสอบบัญชี รวมถึงเข้าใจว่าอาจถูกควบคุมเรื่องการทำบัญชีด้วย ซึ่งในความจริงแล้ว เพียงแค่ทำระบบบัญชีให้เรียบร้อย มีกระบวนการรับรองที่ถูกต้องก็เพียงพอแล้ว จุดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ SME บางส่วนไม่อยากเข้าขอใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนฯ จากบีโอไอ
“ถ้ามาใช้ประโยชน์จากนโยบายของเรา เขาจะได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอย่างเต็มที่แน่นอน วงเงินไม่จำกัดด้วย ที่สำคัญ ผู้ประกอบการอาจเข้าใจผิดว่า บีโอไอ ต้องส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ ก็สามารถเข้ามายื่นคำขอรับการส่งเสริมได้ นอกจากนั้นบีโอไอก็พยายามหานโยบายที่มีประโยชน์มาให้กับผู้ประกอบการอย่างดีที่สุด” เลขาธิการบีโอไอ ให้ความเห็นเพิ่มเติม
ทางด้าน นฤชา ฤชุพันธ์ ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ หน่วย BUILD หน่วยงานภายใต้การกำกับของ BOI มองว่า ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่เป็น SME จริงๆ มาใช้ประโยชน์ยังไม่มากนัก เนื่องจากมีบริษัทขนาดใหญ่หัวใสบางบริษัท ลักไก่ด้วยการเปิดบริษัทลูก แล้วเข้าไปใช้สิทธิ์แทน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน นโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้หมดเขตลงไปแล้ว ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการร่างนโยบายชุดใหม่เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอพิจารณา ซึ่งสิทธิ์ประโยชน์อาจคงเดิม เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมให้ดีกว่าเดิมก็ได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่า SME จะเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหรือไม่เท่านั้นเอง
จงอย่าปล่อยให้บริษัทยักษ์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เข้ามาลักลอบใช้สิทธิ์ที่เหล่า SME พึงจะได้เหล่านี้ไปเสียฉิบ เช่นนั้นแล้วหากโวยวายตีอกชกตัวว่ารัฐไม่ช่วยอะไร คงจะมีเสียงกร่นด่ามากกว่าเห็นใจ…