​ลงทุนอย่างไรดีในปี 2558





    ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ณ วันนี้ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งจีน และยุโรป ต่างก็มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง หรือไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วตามที่คาดหวัง แต่เชื่อว่ายอดการส่งออกของไทย อาจจะสามารถชดเชยได้จากประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯที่มีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดี รวมถึงการเปิดเสรี AEC ที่จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างภูมิภาค ASEAN ซึ่งน่าจะทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ 

ความน่าสนใจของกองทุนรวมในปี 2558
    
    นับตั้งแต่ต้นปี 2557 จนถึง 10 ตุลาคม 2557 มูลค่าสินทรัพย์รวมของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1 แสนล้านบาทหรือ 23% จากต้นปี ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องถ้าเทียบกับปี 2556 ทั้งปี ที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมมีอัตราการเติบโตเพียงประมาณ 17% 

    เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภท พบว่ากองทุนประเภท Fixed Term ยังคงเป็นที่นิยม และมีเม็ดเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากที่สุดกว่า 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี กองทุนรวมต่างประเทศ ได้เพิ่มสัดส่วนในตลาดเข้ามามากขึ้น โดยกองทุนเปิดที่มีการลงทุนต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุนทริกเกอร์) มีอัตราการเติบโตจาก 1.1 แสนล้านบาท มาสู่ระดับ 2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80%

   โดยสัดส่วนใหญ่มาจากกองทุนหุ้นต่างประเทศ และกองทุนผสมต่างประเทศ ซึ่งมียอดเงินใหม่รวมกันกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยภูมิภาคที่ได้รับความนิยมได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น  ขณะที่กองทุนที่ได้รับความนิยมลดลง ได้แก่กองทุนประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ และน้ำมัน ที่มีผลตอบแทนลดลงในปีนี้ และทำให้ความสนใจของนักลงทุนปรับตัวลดลงด้วย

    สำหรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจกองทุนรวมในปี 2558 เชื่อว่าจะยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนตราสารหนี้ประเภท Fixed Term แม้จะยังคงเป็นกองทุนที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด แต่เชื่อว่าความนิยมอาจจะลดลง เนื่องจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ที่เริ่มปรับตัวลดลงและมีแนวโน้มใกล้เคียงกับกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนเปิดตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ลงทุนหันไปถือกองตลาดเงินและกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น 

    อย่างไรก็ดี กองทุนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น น่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากผู้ลงทุนเริ่มมีความเข้าใจ และมีข้อมูลเรื่องการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และเห็นจากทิศทางตลาดในปัจจุบันแล้วว่ามีความผันผวนสูง ไม่ควรที่จะกระจุกการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ นับตั้งแต่ กลต. มีการกำหนดเกณฑ์การลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย (Accredited Investor) โดยอนุญาตให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความซับซ้อนหรือความเสี่ยงมากขึ้น ก็ทำให้มีผลิตภัณฑ์สำหรับนักลงทุน AI เข้ามาในตลาดมากขึ้น เช่น กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade เป็นต้น 

แนะกลยุทธ์ ปรับสัดส่วนการลงทุน 

    สำหรับปี 2557 คาดการณ์ว่าสินทรัพย์ประเภทหุ้น จะยังคงมีผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากหลังธนาคารกลางสหรัฐฯสิ้นสุดการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการ QE ในปีนี้แล้ว น่าจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การลงทุนในตราสารหนี้มีความน่าสนใจลดลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 2558 น่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปี 2557 หุ้นจึงเป็นสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ 

    โดยทั้งนี้ ภูมิภาคที่น่าจะให้ผลตอบแทนดี น่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจปัจจุบันอาจจะยังไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีในปีหน้าเช่น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่หากไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามคาด ก็จะทำให้มีความผันผวนมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่น่าจะขยายตัวได้ดี น่าจะส่งผลบวกต่อหุ้นไทยด้วย โดยบลจ.กสิกรไทยมองเป้าหมายในปีหน้าที่ดัชนีระดับ 1,750 จุด สำหรับสหรัฐอเมริกาเอง แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีแต่ระดับราคาในช่วงที่ผ่านมาปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก จึงอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน

    ด้านตราสารหนี้ แม้ผลตอบแทนอาจจะมีความน่าสนใจน้อยกว่าหุ้น แต่ก็จำเป็นที่ต้องมีไว้ในพอร์ทการลงทุน เพราะตราสารหนี้จะมีความผันผวนต่ำกว่า และช่วยให้พอร์ทการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงได้ดี ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ แม้จะยังมีแนวโน้มราคาที่ไม่น่าสดใสนัก เนื่องจากการปรับลดมาตรการ QE จะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งและกดดันราคาทองคำ รวมถึงน้ำมัน ที่แรงกดดันด้านอุปทานเริ่มคลี่คลายเนื่องจากสหรัฐฯจะพึ่งการขุดเจาะน้ำมันน้อยลงและหันมาใช้น้ำมันจากหินน้ำมันมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน แต่ก็เป็นสินทรัพย์ที่จำเป็นต้องมีเพื่อช่วยให้พอร์ทการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงมีประสิทธิภาพ

    สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง จึงแนะนำแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นหุ้น 50% ตราสารหนี้ 40% และสินค้าโภคภัณฑ์ 10%

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง

    ปัจจัยเสี่ยงหลักที่สำคัญ คือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภูมิภาคยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยยุโรปในช่วงที่ผ่านมา มีการฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารกลางยุโรปต้องออกมาตรการต่างๆเพิ่มเติม ขณะที่ญี่ปุ่นเอง หลังจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในไตรมาส 2 ของปี 2557 ก็ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสะดุดลงไปสักพักหนึ่ง รวมไปถึงจีน ที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เหล่านี้ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจจะทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงตุลาคมที่ผ่านมา

    อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตามองคือ นโยบายของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก โดยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯยกเลิกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินตามโครงการ QE แล้ว และคาดว่าเม็ดเงินหรือสภาพคล่องจะถูกดูดจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตามองว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นเอเชียและตลาดเกิดใหม่อย่างไร 

    ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งยังคงดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอยู่ จะมีเม็ดเงินที่เพียงพอที่จะชดเชยเม็ดเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะหายไปหรือไม่ ซึ่งหากไม่เพียงพอและทำให้ตลาดการเงินโลกอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง ก็จะส่งผลลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรมีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยง และความผันผวนในการลงทุน

ที่มา วารสาร K SME Inspired เล่มเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน