ชวน SME จับตา “เศรษฐกิจไทยปีฉลู” ภายใต้ความท้าทายของ โควิดระลอกใหม่




     ประเทศไทยเปิดรับปีใหม่ 2021 ด้วยการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มมาจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่เกี่ยวโยงกับตลาดกลางกุ้ง มหาชัย จ. สมุทรสาคร ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศมายาวนานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่น่ากังวล คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบนี้มีแนวโน้มจะกระจายไปเป็นวงกว้างและจะควบคุมได้ยาก จากการแพร่ระบาดในสถานที่สุ่มเสี่ยง ทั้งตลาด สถานบันเทิง สถานที่เล่นการพนัน ที่ยากต่อการควบคุมและการติดตามผู้สัมผัสเชื้อ จากมาตรการของภาครัฐที่เข้มข้นน้อยกว่าครั้งก่อน และจากพฤติกรรมของผู้คนเองที่มีการเดินทางและพบปะกันมากขึ้นในช่วงเทศกาล จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการระบาดระลอกแรก และได้กระจายไปราว 60 จังหวัดทั่วประเทศ
 
 
     การระบาดระลอกใหม่นี้แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจต่างๆ ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมาให้กลับทรุดลง หรือยืดระยะเวลาการฟื้นตัวออกไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ พร้อมกับยังมีความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ยังคงต้องติดตามในการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบนี้
 
 
ปรับลดการคาดการณ์ GDP เหลือ 2.0 เปอร์เซ็นต์
 
 
     KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงอีกครั้ง จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ โดยมองว่าการระบาดรอบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ
 
 
     (1) การประกาศปิดเมืองจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน รายได้และการบริโภค
 
 
     (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าเดิม
 
 
     KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 2.0 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดรุนแรงจนทำให้มาตรการปิดเมืองต้องมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตลอดทั้งปี จะส่งผลให้ GDP อาจหดตัวได้ถึง -1.2 เปอร์เซ็นต์
 
 
โควิด-19 ระลอกใหม่กระทบเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว
 
 
     การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 มาตรการปิดเมืองบางส่วน การงดทำกิจกรรมนอกบ้านจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และการฉีดวัคซีนในประเทศที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในวงกว้างในช่วงครึ่งแรกของปี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญใน 2 ด้าน คือ
 
 
     1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะสะดุดลงอีกครั้ง จากการระบาดและมาตรการที่มีแนวโน้มลากยาวกว่ารอบก่อน แม้ว่ามาตรการควบคุมการระบาดในครั้งนี้จะเน้นการควบคุมตามความเสี่ยงของพื้นที่และธุรกิจ แต่สถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงควบคุมได้ยากกว่ารอบที่แล้ว อาจทำให้รัฐต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าครั้งที่ผ่านมา หรือสุดท้ายอาจต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้          
 
 
     ยิ่งไปกว่านั้น ในครั้งนี้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่เสี่ยงสูง 28 จังหวัดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งประเทศ  จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คาดว่าแม้การปิดเมืองจะเข้มงวดน้อยลงแต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะยังคงรุนแรงใกล้เคียงกับรอบที่ผ่านมา
เศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะหดตัวรุนแรง ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสถัดไป  คาดการณ์ว่า รัฐจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับในไตรมาส 2 ปี 2020 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงรุนแรงและจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกมีโอกาสโตติดลบถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์  และหากการระบาดจบลงตามคาด เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในช่วงไตรมาส 2
 
 
     2) นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
 
 
     (1) การระบาดระลอกใหม่ในประเทศทำให้คนไทยกลับมามีความกังวลในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในทางกลับกันนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดอยู่ในระดับต่ำแล้ว เช่น จีน ก็อาจลังเลที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
 
 
     และ (2) แม้ไทยจะมีแผนสำหรับการผลิตและใช้วัคซีนในประเทศ แต่ต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปีกว่าจะมีการเริ่มฉีดได้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 KKP Research จึงปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับปี 2021 ลงจากที่เคยคาดว่าจะกลับมาได้ 6.4 ล้านคนในไตรมาส 3 และ 4 เหลือเพียง 2 ล้านคนในไตรมาส 4 เท่านั้น
 
 
ส่งออกช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยง
 
 
     การส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้โดยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจโลก นอกจากความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยังหนุนให้การส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ในปีนี้
 
 
     โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าการส่งออกไทยยังฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค  เนื่องจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ในขณะที่สินค้าส่งออกไทยมีสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้น้อย นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าที่เกิดต่อเนื่องมาจากปีก่อน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกไทยในปี 2021 ขยายตัวได้น้อยลงกว่าที่เคยประเมิน ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดปัญหาในภาคการผลิตในประเทศที่สามารถกลับมากระทบการส่งออกเพิ่มเติมได้เช่นกัน
 
 
     ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยหากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อและรุนแรง คาดว่าในกรณีเลวร้ายอาจต้องมีมาตรการที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานถึง 2 ไตรมาสเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น ภาคการผลิตและการส่งออกอาจประสบปัญหาจากความจำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราวและการขนส่งสินค้า อีกทั้งหากวัคซีนไม่ได้ผลตามคาด อาจทำให้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยในปีนี้ ในกรณีเลวร้าย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวต่อเนื่องที่ -1.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2021

 
ผลกระทบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
 
 
     การระบาดระลอกใหม่และมาตรการปิดเมืองจะทำให้ธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวกลับไปหดตัวอีกครั้ง ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา เริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจในแทบทุกกลุ่ม ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวของใช้จ่ายในประเทศหลังการเปิดเมืองและการส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะยังหดตัวรุนแรงอยู่แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้บ้างตามอุปสงค์ในประเทศ  การระบาดระลอกใหม่และการปิดเมืองที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงจะส่งผลต่อธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน คือ ธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของคน เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศ ร้านอาหาร การค้าปลีก จะได้รับกระทบรุนแรง ในขณะที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอาจเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้
 
 
     สัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เริ่มกลับมาจ้างงานอีกครั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และฟื้นตัวได้ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ในขณะที่การจ้างงานในภาคบริการที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก  
 
 
     นอกจากนี้ ถึงแม้ตัวเลขทางการของการจ้างงานจะไม่ได้หดตัวรุนแรงมากนัก และอัตราการว่างงานในเดือนล่าสุดคือเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.0 เปอร์เซ็นต์ แต่มีแรงงานจำนวนมากที่แม้จะมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดยผู้ที่เสมือนว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง  และในจำนวนนี้ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (อยู่ที่ 4.2 แสนคนในเดือน พ.ย. 2020 เพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) อีกทั้งแรงงานทั้งในและนอกระบบที่ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระที่ยังคงทำงาน แต่รายรับน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปของภาคแรงงานจะรุนแรงกว่าตัวเลขการเลิกจ้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
 
 
     การระบาดระลอกสองและการปิดเมืองจะซ้ำเติมให้การจ้างงานในภาพรวมกลับมาแย่ลงและอาจรุนแรงกว่ารอบก่อน จึงประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจหลายแห่งอาจจำเป็นที่ต้องขยับจากการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานไปเป็นการเลิกจ้างถาวร เนื่องจากแบกรับต้นทุนต่อไปไม่ไหวหลังจากที่อั้นมาตลอดปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการบริการที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา กลับถูกซ้ำเติมอีกครั้งจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานในวงกว้างได้
 

     ที่มา : KKP Research






 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน