แปลงกิจการให้เป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เปิดรับการระดมทุน

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





Main Idea

 
 
ข้อดีของการจดทะเบียนธุรกิจเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม”
 
 
  • สามารถเปิดระดมทุนให้มีนักลงทุน ประชาชนทั่วไปหรือกองทุนวีซี ร่วมลงทุนได้โดยไม่ต้องรายงานต่อ ก.ล.ต. เพื่อให้การระดมทุนเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
 
  • บริษัท องค์กรธุรกิจ บริษัทมหาชน ใดๆ ที่ให้การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น สนับสนุนเงินทุน จะสามารถนำวงเงินนั้นไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้อีกด้วย
 
  • SME จะได้ปรับรูปแบบธุรกิจให้สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีโอกาสได้รับการระดมทุนจากองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ได้รับประโยชน์ วิน-วิน กันทุกฝ่าย
 

 

     “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise หรือ SE) เป็นรูปแบบการจดทะเบียนกิจการรูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและมุ่งเน้นความมีธรรมภิบาลทางธุรกิจ เช่น ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมโดยรอบตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ถือหุ้น คู่ค้าและลูกค้า



               

     สำหรับธุรกิจ SME สามารถยื่นลงทะเบียนขอจดรูปแบบกิจการให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบนั่นคือ “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” (สวส.) ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2562
               

     ผู้ประกอบการจะต้องเขียนรายงานสรุปยื่นไปยังหน่วยงานดังกล่าวเพื่ออธิบายว่า รูปแบบธุรกิจที่ดำเนินอยู่สร้างประโยชน์ต่อสังคมในรูปแบบใด เช่น ทำธุรกิจแปรรูปอาหารโดยอาศัยวัตถุดิบภายในชุมชนเพื่อให้เกิดการจ้างงานและเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน เป็นต้น



               

     ข้อดีของการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก็คือ สามารถเปิดระดมทุนให้มีนักลงทุน ประชาชนทั่วไปหรือกองทุนวีซี สามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องรายงานต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้การระดมทุนเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว


     ทั้งนี้วิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ นำไปใช้เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม ส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ สามารถจ่ายเป็นปันผลคือให้กับผู้ถือหุ้นได้
                


               

     นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษอีกหนึ่งอย่างนั่นคือ บริษัท องค์กรธุรกิจ บริษัทมหาชน ใดๆ ที่ให้การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมไม่ว่าจะรูปแบบใด เช่น การสนับสนุนเงินทุน จะสามารถนำวงเงินนั้นไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้อีกด้วย จุดประสงค์เพื่อให้องค์กรธุรกิจที่มีความเข้มแข็งให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม
               

     สิทธิพิเศษดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กหันมาปรับรูปแบบธุรกิจให้สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะได้รับการระดมทุนจากองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ถือว่าได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย
               

     ทั้งนี้ทุกธุรกิจสามารถปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้โดยที่ยังคงรูปแบบธุรกิจหลักเอาไว้อยู่ อย่างไรก็ตามแม้จะมีสิทธิประโยชน์ด้านเงินทุนเป็นสิ่งจูงใจ แต่ต้องคิดเสมอว่าสิทธิประโยชน์นั้นไม่ควรจะเป็นวัตถุประสงค์หลักในการเปลี่ยนองค์กรให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ไม่มีใจที่จะทำเพื่อสังคมจริงๆ
               


           

     อย่างไรก็ตามแนวโน้มของการดำเนินธุรกิจในยุคอนาคต ความใส่ใจเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อมและสังคม จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยไม่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลักเลยทีเดียว    


     ขณะที่ภาคตลาดทุนและสถาบันการเงินก็เริ่มให้ความสำคัญกับกิจการเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้สูงว่าการพิจารณาแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้กับ SME จะมีการยกประเด็นเพื่อสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณามากขึ้น
               

     ผู้ประกอบการเองจึงควรหันมาศึกษาและปรับตัวเข้ากับแนวโน้มหลักนี้มากขึ้นเช่นกัน
               
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน