ดูให้ชัด! มาตรการแบงก์ชาติช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเฟส 2 ซ่อมพิษโควิด-19



Main Idea

 
 
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 เพื่อดูแลลูกค้ารายย่อยที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการระยะแรกที่กำลังจะทยอยสิ้นสุดลง  เพราะความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนการฟื้นตัวของกำลังซื้อและรายได้ประชาชนยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
 
  • มาตรการเฟส 2 เน้นลดดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย ทั้งการ “ลดเพดานดอกเบี้ย” สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีผล 1 สิงหาคม 2563 และ “ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม” สำหรับลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ลงทะเบียนเข้าโครงการรับความช่วยเหลือระหว่าง 1 กรกฎาคม -31 ธันวาคม 2563
 
  • นอกจากนี้มาตรการเฟส 2 ยังเน้นไปที่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและลูกหนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ เพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายมีภาระผ่อนต่อเดือนน้อยลง ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น มีความสามารถในการชำระหนี้ที่สอดคล้องกับกระแสรายได้ของตนเองมากขึ้น
 
 


     มาตามนัด! มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเฟส 2 จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นแนวทาง
ดูแลลูกค้ารายย่อยที่สถาบันการเงินทั้งแบงก์และนอนแบงก์ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการระยะแรกที่กำลังจะทยอยสิ้นสุดลง  ด้วยความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ตลอดจนการฟื้นตัวของกำลังซื้อ/รายได้ของประชาชนยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ในช่วงหลายเดือนหลังจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทอาจจะเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง ภายหลังการคลายล็อกดาวน์ในประเทศ
 



              
     เดินหน้าลดดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล


     ทั้งนี้มาตรการเฟส 2 จะเน้นการ “ลดดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย” ของแบงก์และนอนแบงก์ โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยใน 2 ส่วน


     ได้แก่ 1. การ “ลดเพดานดอกเบี้ย” สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เริ่มมีผล 1 สิงหาคม 2563


     และ 2. การ “ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม” สำหรับลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ลงทะเบียนเข้าโครงการเพื่อรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่าง 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2563
 

     ปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและลูกหนี้


     นอกจากนี้มาตรการเฟส 2 ยังเน้นไปที่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งมักจะมีภาระผ่อนต่อเดือนสูงเพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายมีภาระผ่อนต่อเดือนน้อยลง ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่สอดคล้องกับกระแสรายได้ของตนเองมากขึ้น
 



              
     ลูกหนี้ได้อะไรจากมาตรการเฟส 2


     ในมุมของลูกหนี้นั้น มาตรการเฟส 2 จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดภาระทางการเงิน และเหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืนหนี้ของตน โดยลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ครอบคลุมทั้งลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเดิม และลูกหนี้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ มาก่อน อย่างไรก็ดีเงื่อนไขสำคัญสำหรับลูกหนี้ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเฟส 2 ก็คือ จะต้องเป็นลูกหนี้ปกติ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 (ไม่เป็นลูกหนี้ NPLs หรือค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน) และต้องมีความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้ตามภาระหนี้ใหม่ภายใต้มาตรการเฟส 2 
 
              
     จับตาสถานการณ์ลูกหนี้ไตรมาส 3
              

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินการตามแนวทางการช่วยเหลือสำหรับลูกค้ารายย่อยระยะที่ 2 ของธปท. จะเป็นภารกิจเพิ่มเติมของสถาบันการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสภาพคล่องกับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SME  อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตามแนวทางดังกล่าว จะเพิ่มแรงกดดันให้กับสถาบันการเงิน เพราะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 
              




     โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายย่อยในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8-1.5 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3/2563
              

     นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องติดตามในไตรมาส 3  จะเป็นสถานการณ์ของลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการเฟสแรกว่า จะสามารถกลับมาผ่อนชำระหนี้คืนได้มาก-น้อยเพียงใด ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ อาจทำให้ลูกหนี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะขอขยายเวลาการชำระหนี้ หรือพักชำระหนี้ต่อ ซึ่งตัวแปรดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสถาบันการเงินอื่นๆ ทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจและนอนแบงก์ ต้องวางแผนเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อผลประกอบการไปในเวลาเดียวกัน
 

     สรุปมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยเฟส 2 สู้โควิด

 
  • สินเชื่อ บัตรเครดิต         
 
     เพดานดอกเบี้ย

     -ใหม่ 16 เปอร์เซ็นต์ (เดิม 18 เปอร์เซ็นต์)     


     มาตรการช่วยเหลือ
              
     *หากแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว หรือขยายเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ย ไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์

     *ลูกหนี้รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ขยายวงเงินบัตรเป็น 2 เท่าของรายได้ ได้ชั่วคราวถึง 31 ธันวาคม 2564 (เดิม 1.5 เท่า)
 



 
  • สินเชื่อส่วนบุคคล

     เพดานดอกเบี้ย

     -สินเชื่อส่วนบุคคล  บัตรกดเงินสด หรือวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน ใหม่  25 เปอร์เซ็นต์ (เดิม 28 เปอร์เซ็นต์)     
       
              
     มาตรการช่วยเหลือ

     *ลดภาระผ่อน หรือ

     *หากแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว หรือขยายเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ย ไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์

     *ลูกหนี้รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ขยายวงเงินเป็น 2 เท่าของรายได้ ได้ชั่วคราวถึง 31 ธันวาคม 2564 (เดิม 1.5 เท่า)
              

     เพดานดอกเบี้ย

     -ผ่อนชำระเป็นงวด ใหม่  25เปอร์เซ็นต์ (เดิม 28 เปอร์เซ็นต์)
              
     - จำนำทะเบียน ใหม่ 24 เปอร์เซ็นต์ (เดิม 28 เปอร์เซ็นต์)
              

    มาตรการช่วยเหลือ

     *พิจารณาลดค่างวด 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย
และปรับดอกเบี้ยเป็น ไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์
 



 
  • สินเชื่อเช่าซื้อ

     มาตรการช่วยเหลือ


     *ไม่จำกัดวงเงิน (เดิม มอเตอร์ไซด์ ไม่เกิน 3.5 หมื่นบาท ส่วนรถยนต์ไม่เกิน 2.5 แสนบาท)

     *เลื่อนชำระค่างวด (ทั้งต้น+ดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือ
ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ 
 
 
  • สินเชื่อบ้าน

     มาตรการช่วยเหลือ


     *ไม่จำกัดวงเงิน (เดิม ไม่เกิน 3 ล้านบาท)

     *เลื่อนชำระค่างวด (ทั้งต้น+ดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือ

     *เลื่อนชำระเงินต้น 3 เดือน และดอกเบี้ยตามความเหมาะสม หรือ

     *ลดค่างวด โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้



ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน