EIC มองเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุด แต่จะค่อยๆ ฟื้นช่วงครึ่งหลังปี 2563


 

     หลังจากมีมาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในหลายประเทศ ทำให้ภาครัฐเริ่มกลับมาเปิดเมืองอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม มาตรการปิดเมือง ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาวะวิ่งเข้าหาเงิน รวมถึงความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งทำให้ภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกออกมาตรการการเงินและการคลังขนาดใหญ่ในรูปแบบที่ไม่ปกติ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่หลังการแพร่ระบาดเริ่มอยู่ในการควบคุม หลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มทยอยเปิดเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และผลของมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินลดลง


     โดยในรายงานฉบับนี้ EIC ได้รวบรวมการประเมินผลกระทบของ COVID-19 และวิเคราะห์ 4 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก นโยบายทางการเงินและการคลัง รวมถึงตลาดทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและของประเทศไทย ในช่วงที่เหลือของปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

     1) จากการปิดเมืองและการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ทั่วถึง มาตรการควบคุมโรคส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศ ทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต จากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของหลาย ๆ ประเทศพบว่า มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้นทำให้ดัชนี PMI ในเดือนเมษายนชะลอลงรุนแรง โดยการเปลี่ยนแปลงของดัชนี PMI ภาคบริการลดลงมากกว่าภาคการผลิต ทำให้การปิดเมืองส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) มากกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) เนื่องจากกลุ่มประเทศ DM มีสัดส่วนภาคบริการในระบบเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มประเทศ EM นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2563 บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวมีความสัมพันธ์กับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค สะท้อนได้ว่า มาตรการภาครัฐที่เข้มงวดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและจะยิ่งเห็นความสัมพันธ์ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของไตรมาสที่ 2 ที่หลายประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการควบคุมโรคเต็มรูปแบบ
 
 
     หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 อยู่ค่อนข้างมาก เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง หลายประเทศจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด สะท้อนจากดัชนี Google mobility ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการ แต่กิจกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันในตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ของโลกด้านการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ เครื่องชี้ในตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเริ่มชะลอลงทั้งผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรก และผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 13.3เปอร์เซ็นต์ จากเดือนเมษายนที่ 14.7เปอร์เซ็นต์


     อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายอุตสาหรกรรมพบว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นแบบไม่ทั่วถึงในแต่ละภาคส่วน (Uneven reocovery) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของ COVID-19 และการปิดเมืองที่แตกต่างกันดังที่กล่าวไว้แล้ว นอกจากนั้น การเปิดเมืองที่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกิจกรรมทางเศรษกิจในบางอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ ในขณะที่ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป


     ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ จากเดือนเมษายนที่ลดกำลังการผลิตเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากผ่อนคลายมาตรการกำลังการผลิตยานยนต์ในเดือนพฤษภาคมได้กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตทั้งหมด) ในขณะที่ภาคบริการ เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบันเทิง นอกจากได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคการผลิตแล้ว หลังทยอยเปิดเมืองผู้บริโภคบางส่วนยังคงกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ทำให้การฟื้นตัวจำเป็นต้องใช้เวลาในการเข้าสู่ภาวะปกติจนกว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ เช่น สามารถหาวิธีรักษา COVID-19 หรือมีวัคซีนป้องกัน เป็นต้น


     EIC ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ลงเหลือ -3.5เปอร์เซ็นต์ และประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่ทั่วถึง (U-shaped and uneven recovery) ในระยะข้างหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลังภาครัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังขนาดใหญ่ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แม้ว่าบางภาคส่วนจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อาจฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้บริโภคจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและลงทุน ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะถูกกดดันจากยอดที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่แม้จะฟื้นขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ EIC จึงประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นรูปตัว U (U-shaped recovery) กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 อาจไม่สูงพอที่จะชดเชยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงในปี 2563 ได้ จึงทำให้โดยรวมแล้วมูลค่าของเศรษฐกิจปี 2564 จะอยู่ต่ำกว่าระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปี 2564 ในกรณีที่ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นต้นไปจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงอัตราการขยายตัวก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด


     อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวแบบ U-shape นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า แต่ละประเทศสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้และจะไม่มีการระบาดระลอก 2 เป็นวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราลดลงเรื่อย ๆ โดยหากมีการระบาดระลอก 2 ที่รุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่ารอบแรก ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกลายเป็นลักษณะ W หรือ L-shape กล่าวคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซายาวนาน และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปมีมากขึ้น
 

     2) ผลของมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทางการเงินในรูปแบบที่ไม่ปกติ ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดการเงินด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากและถึงขั้นหดตัวในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงภาวะขาดความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน ภาครัฐได้ออกมาตรการการเงินและการคลังในขนาดใหญ่และในรูปแบบที่ไม่ปกติ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
สำหรับนโยบายทางการคลังนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
 
  • นโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs เช่น โครงการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ การรับประกันสินเชื่อ (loan guarantee) จากภาครัฐ โดยหลาย ๆ ประเทศต่างออกมาตรการให้เงินช่วยเหลือในลักษณะนี้เป็นการชั่วคราวเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อในระบบ (flow of credit) ไม่หยุดชะงักในช่วงที่ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจสูงจนทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดการปล่อยสินเชื่อลง
 
  • นโยบายที่สนับสนุนภาคครัวเรือน เช่น การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงต่อครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ การให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ว่างงานและขยายระยะเวลาที่ได้รับเงินช่วยเหลือ (unemployment benefits) และออกกฎให้ต้องจ่ายเงินแก่พนักงานที่จำเป็นต้องลาป่วย (paid sick leave) โดยการให้เงินสนับสนุนการใช้จ่ายของครัวเรือนอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
 
  • นโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐทั่วไป เช่น การลงทุนภาครัฐผ่านการสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม การลงทุนในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไวรัสและรักษาผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

 
     สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และออกมาตรการการเงินแบบไม่ปกติ ที่หลากหลายมากขึ้น โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน นอกจากนี้ ผู้ร่วมตลาดยังคงมีมุมมองว่าธนาคารกลางจะยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายทางการเงินนี้ไปอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อยในระยะ 1 ปีข้างหน้า และสำหรับนโยบายการเงินที่นอกเหนือจากมาตรการปกติ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย
 
  • มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน มีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ และให้เงินทุนในตลาดเงินยังสามารถหมุนเวียนได้ปกติ (เพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน) อีกทั้งสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน โดยประเภทของสินทรัพย์ที่ซื้อมีได้หลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน พันธบัตร Mortgage-Backed Security หรือพันธบัตร covered bond เป็นต้น ทั้งนี้ผลของการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินนั้นทำให้ขนาดของงบดุลของธนาคารกลางมีขนาดใหญ่ขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว
 
  • มาตรการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยธนาคารกลางเป็นผู้ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้นำไปปล่อยต่อแก่ภาคธุรกิจหรือครัวเรือน ตัวอย่างเช่น มาตรการ Targeted longer-term refinancing operations (TLTROs) ของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปล่อยสินเชื่อให้ถึงระดับเป้าหมาย (benchmark) เพื่อที่จะได้รับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำจากทาง ECB
 
  • มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ (liquidity facility) มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการระดมทุนในตลาดพันธบัตร และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงิน รวมถึงสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤติ ทั้งนี้ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะรับสินทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเป็น investment grade ขึ้นไปมาค้ำประกัน แต่ล่าสุดในบางประเทศ (เช่น สหรัฐฯ) เริ่มอนุญาตให้สินทรัพย์ที่เคยถูกจัดอันดับเป็น investment grade แต่เพิ่งถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงเป็น junk bond (สินทรัพย์เหล่านี้ถูกเรียกว่า Fallen angel) มาขอกู้ได้


     การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เช่น การปรับเกณฑ์ supplementary leverage ratio (SLR) ให้ผ่อนคลายขึ้นในสหรัฐฯ (SLR สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในยามวิกฤติ) โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่ต้องนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินฝากที่เก็บไว้กับ Fed มาใช้คำนวณตัวส่วนของ SLR ทำให้อัตราส่วนปรับสูงขึ้นและเข้าเกณฑ์การกำกับดูแลของธนาคารกลางได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ลด reserve requirement ratios ลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์เหลือสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นต้น
 

     ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ผ่านมาล่าสุดนั้น Fed และ ECB ได้ดำเนินนโยบาย ดังนี้
ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 Fed ได้สื่อสารว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบ 0-0.25เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงสิ้นปี 2565 และยังคงปริมาณเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในระดับสูง โดย Fed มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวที่ -6.5เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้และกลับมาขยายตัวได้ที่ 5เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า แต่จนถึงปี 2565 อัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังไม่สามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ Fed จึงสื่อสารว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงสิ้นปี 2565 (สะท้อนจาก dot plots) และจะเข้าซื้อพันธบัตรเป็น “วงเงินอย่างน้อย” 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากที่เคยกล่าวว่าจะมีการเข้าซื้อแบบไม่จำกัดวงเงิน (unlimted purchase) ซึ่งแม้ว่าปริมาณการเข้าซื้อนี้จะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่วงเงินดังกล่าวยังสูงกว่าการทำมาตรการ QE ในช่วงวิกฤติ GFC (โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage Backed Securities : MBS) ที่ 8 และ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ตามลำดับ)


     ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ECB เพิ่มวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) อีก 6 แสนล้านยูโร โดย ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวถึง 8.7เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ และอาจหดตัวสูงถึง 12.6เปอร์เซ็นต์ หาก COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง นอกจากนี้ ECB ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1เปอร์เซ็นต์ ทั้งในปีนี้และปีหน้า รวมถึงอัตราว่างงานที่มีแนวโน้มสูงถึง 9-10เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงปี 2565 ECB จึงขยายวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านโครงการ PEPP ทำให้วงเงินรวมตอนนี้อยู่ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ECB ยังได้ขยายระยะเวลาของมาตรการไปจนถึงมิถุนายน 2564 และจะต่ออายุสัญญาภายใต้โครงการไปจนถึงสิ้นปี 2565 เป็นอย่างน้อย


     ในกรณีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าคาดและภาวะการเงินกลับมาตึงตัวขึ้น EIC มองว่าทั้ง Fed และ ECB จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้อีก Fed สามารถขยายวงเงินมาตรการ QE และดำเนินมาตรการ Yield Curve Control จากรายงานการประชุม Fed ไม่มีถ้อยคำที่ระบุถึง เพดานสำหรับวงเงินของมาตรการ QE ที่ได้ดำเนินไป ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ Fed อาจขยายวงเงินเพิ่มได้และดำเนินการซื้อยาวต่อเนื่อง นอกจากนี้ Fed ยังได้ระบุว่ากำลังศึกษามาตรการ Yield Curve Control ซึ่ง EIC มองว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (front-end yield curve) ให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อเนื่อง ECB สามารถขยายวงเงินและเพิ่มชนิดสินทรัพย์ทางการเงินที่เข้าซื้อผ่านโครงการ PEPP โดยประธาน ECB ระบุว่าหากเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ คณะกรรมการส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องที่จะขยายวงเงินของโครงการ PEPP เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินด้วยเช่นกัน ซึ่ง EIC มองว่า ECB อาจผ่อนคลายเงื่อนไขโครงการ PEPP ให้ครอบครุมสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ อาทิ ตราสารหนี้ประเภท High yields
 

     3) จากภาวะวิ่งเข้าหาเงินสดสู่การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงเกิดเป็น global risk-off sentimentและเกิดภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) โดยเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนหันมาถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงอย่างเงินสด ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญของโลกปรับลดลงมากที่สุดราว 30-40เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลก แม้ว่าลดลงในอัตราที่ต่ำกว่าในช่วงวิกฤติการเงินโลก (Global financial crisis: GFC)
ในปี 2551 -2552 ที่ส่วนใหญ่ปรับลดลงราว 50-60 เปอร์เซ็นต์ (คิดอัตราการลดลงจากจุดสูงสุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาถึงจุดต่ำสุดของดัชนี) อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบด้วยระยะเวลาที่เท่ากันโดยนับจากวันที่เริ่มเกิดวิกฤตินั้น พบว่าการปรับลดลงในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้เป็นการปรับลดลงในอัตราที่เร็วกว่าในช่วง GFC โดยดัชนีราคาหุ้นในภาคการธนาคาร พลังงาน และการขนส่งปรับลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์


     สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนพบว่า สกุลเงินส่วนใหญ่ปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สุด ส่วนตลาดพันธบัตรพบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ในช่วงที่เกิด global risk-off รุนแรงที่สุดในช่วงต้นเดือนมีนาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นบ้างในระยะสั้น ๆ เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือเงินสดในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีสภาพคล่องสูงกว่า (dash for cash) ด้านอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อาจทำให้โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ (default risk) ปรับสูงขึ้นได้


     อย่างไรก็ดี ภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีส่วนช่วยพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาเพิ่มขึ้นได้บ้าง ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นในบางสินทรัพย์ โดยตลาดหุ้นปรับสูงขึ้นหลังหดตัวรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมที่การแพร่ระบาด COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ปรับลดลงบ้างเช่นกัน ดังนั้น เมื่อดูในภาพรวมแล้วจึงกล่าวได้ว่า วิกฤติ COVID-19 ในรอบนี้ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นมาก โดยดัชนีราคาปรับลดลงแรงและปรับเพิ่มกลับขึ้นมา (rebound) เร็วกว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลก (GFC)
 

     4) หนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในระยะข้างหน้า โอกาสในการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (default risks) ปรับสูงขึ้น ภาครัฐทั่วโลกดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ก่อให้เกิดการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยรายจ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรายรับจากภาษีที่คาดว่าจะลดลงตามรายได้และอุปสงค์ภายในประเทศที่หดตัว ทำให้คาดว่าปี 2563 หลายประเทศจะมีการขาดดุลทางการคลังมากขึ้น นอกจากนี้ หนี้ภาครัฐ (gross government debt) ในหลายประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดย IMF คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 122.4 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ในปี 2563 จากเดิมที่ 105.2เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ในปี 2562 และหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDPในปี 2563 จากเดิมที่ 53.2เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ในปี 2562


     ในระยะข้างหน้า หากการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง แม้ว่าการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้จะเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อชดเชยการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่หากมีการก่อหนี้สาธารณะในระดับสูงต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพิ่มข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายเงิน และส่งผลเสียต่อความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐในระยะยาวได้ กล่าวคือ


     อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอาจลดลง ในภาวะที่มีการขาดดุลการคลังในปริมาณมากและสะสมเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากจะทำให้ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐลดลงแล้ว ภาครัฐยังจะต้องลดการใช้จ่ายลงทำให้เม็ดเงินลงทุนสำหรับโครงการภาครัฐในระยะยาวลดลง อีกทั้งภาครัฐจะต้องหาทางเพิ่มรายได้เพื่อจ่ายคืนหนี้ที่มากขึ้น เช่น การขึ้นอัตราภาษี ทำให้แนวโน้มการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนลดลง (crowding-out effect) และส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอาจต่ำลงได้


     การดำเนินนโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดมากขึ้นจากนโยบายทางการคลัง (Fiscal dominance) ในภาวะที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง รัฐบาลต้องชำระดอกเบี้ยจำนวนมาก โดยในบางกรณีธนาคารกลางอาจถูกบีบให้อาจต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลไม่ให้สูงจนบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐ หรือในกรณีเลวร้ายอาจต้องพิมพ์เงินออกมาเพื่อสนับสนุนให้ภาครัฐใช้ชำระหนี้
อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวอาจสร้างข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่ต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน จนอาจนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่สูงเกินระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง หรืออาจมีการสะสมความเปราะบางด้านเสถียรภาพในระบบการเงินจากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานเกินไปเพิ่มความเสี่ยงต่อความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ ในภาวะที่ภาครัฐต้องดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังมากขึ้นและจำเป็นต้องกู้ยืมเงินในปริมาณมากเพื่อมาใช้จ่ายนั้น พบว่าประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐคือ ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำและมีสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP สูง เนื่องจากหากเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย จะทำให้มีสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ


     เกิดเป็นปัญหาความยั่งยืนของหนี้ในระยะยาวได้ โดย EIC พบว่า ในปี 2563 นี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency) ได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์ทางการเงินของบางประเทศลงไปบ้างแล้ว เนื่องจากความกังวลที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะหดตัวและหนี้สินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลลดลงและมีความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ปรับสูงขึ้น ในระยะต่อไป ต้องจับตามองความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของภาคเอกชน และความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่อาจกลับมาปะทุอีกครั้ง


     นอกจากความเสี่ยงของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (high yields) ปรับสูงขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) โดย EIC พบว่า ธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองมาก เช่น ภาคธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก รวมถึงภาคธุรกิจพลังงานด้วย นอกจากนี้ จำนวนบริษัททั่วโลกที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 นี้ และเข้าใกล้ระดับในช่วงวิกฤติการเงินโลก จึงเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่าผลของการหดตัวทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ทำให้ภาคธุรกิจมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น
 

     ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าโลกที่ปรับสูงขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนลงนามข้อตกลงระยะที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2563 หนึ่งในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันคือ การขยายการค้า โดยจีนจะต้องนำเข้าสินค้าและบริการต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้าในมูลค่ามากกว่ามูลค่าการนำเข้าในปี 2017 ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เกษตร พลังงาน และบริการต่าง ๆ


     ซึ่งจนถึงเดือนเมษายน 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเป้าหมายของระยะเวลาเดียวกันที่ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกล่าวคือ จีนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพียง 45เปอร์เซ็นต์ ของเป้าหมายมูลค่าการนำเข้าที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ กดดันจีนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการกดดันบริษัทจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หลังวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายให้แสดงหลักฐานว่าบริษัทไม่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลต่างชาติโดยพุ่งเป้าไปที่บริษัทจีน (คิดเป็น 3.3เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ) ซึ่งหากมีความผิดจริง บริษัทอาจถูกถอดถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกดดันอื่น ๆ ที่ล้วนพุ่งเป้าที่จีน ทำให้ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าการลงทุนในระยะต่อไปกลับมาเพิ่มสูงขึ้น
 

     ที่มา EIC
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้