เมื่อสภาพคล่อง! เริ่มไม่คล่อง บริหารเงินอย่างไรให้รอดพ้นวิกฤต

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย

PHOTO : กิจจา อภิชนรจเรข




Main idea

 
  • สิ่งสำคัญที่สุดในวันที่ธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต คือ เงินสด โดยผู้ประกอบการทุกคนรู้ว่าตัวเองมีเงินอยู่ในมือเท่าไร แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีนั้นจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย จนทำให้ตั้งรับกับเหตุการณ์วิกฤตไม่ทัน
 
  • ในสถานการณ์วิกฤต ธุรกิจจะบริหารเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดโดยเริ่มต้นจากการคำนวณเงินสดที่มีอยู่ในมือและหาเครื่องมือที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไป ซึ่งการขอสินเชื่อธนาคารอาจเป็นทางออกให้กับธุรกิจในสถานการณ์เช่นนี้
 
  • แม้ว่าจะได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสในช่วงนี้  แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเวลาที่ดี ที่ธุรกิจจะได้ปรับตัว มองว่าในอนาคตจะมีอะไรเปลี่ยนไป และกระทบกับธุรกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจมองเห็นโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจก็เป็นได้ 




     สิ่งสำคัญที่สุดในวันที่ธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต คือ “เงินสด” โดยผู้ประกอบการทุกคนรู้ว่าตัวเองมีเงินอยู่ในมือเท่าไร แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีนั้นจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้นานเท่าไร ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย


     ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักจะมองที่รายได้ว่าจะมียอดขายเท่าไร และให้ความสำคัญกับการขายมากกว่าการเก็บเงินจากลูกค้าเสียอีก เรื่องคลาสสิกที่เจอบ่อยๆ คือ หลายธุรกิจที่มีลูกหนี้การค้าจำนวนมาก หรือบางครั้งฝ่ายบัญชีบอกว่าบริษัทมีกำไรแต่เจ้าของกลับรู้สึกว่าไม่มีเงิน เมื่อเอางบการเงินมาดูปรากฏว่ามีสินค้าคงคลัง (Inventory) เยอะมากและที่สำคัญของที่ขายออกไปก็ยังเก็บเงินไม่ได้ ค้างอยู่ 90 วันหรือ 180 วัน ถึงแม้ว่าลูกค้าจะจ่ายในวันใดวันหนึ่งก็ตาม แต่หมายความว่าวันนี้บริษัทก็ไม่มีเงินสดในมือมากพอ
               




     แล้วเมื่อเกิดวิกฤต ธุรกิจจะบริหารเงินที่มีอยู่ในมืออย่างจำกัดได้อย่างไร? เราจึงเข้ามาพูดคุยกับ ภีม เพชรเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงิน และผู้ก่อตั้ง PEAK ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีออนไลน์ ขอคำแนะนำการบริหารจัดการการเงินในสถานการณ์นี้
               
 
     บริหารการเงินในภาวะวิกฤต
               

     ในช่วงเวลาเช่นนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไร วิธีคำนวณว่าธุรกิจจะอยู่ไปได้นานแค่ไหนหากไม่มีรายได้เข้ามา คือ เอาค่าใช้จ่ายของปีที่ผ่านมาหารด้วยจำนวนวัน 365 วัน ก็จะได้ค่าใช้จ่ายรายวัน ซึ่งจะทำให้ SME เข้าใจสถานะทางการเงินของตัวเอง และเริ่มพิจารณาหาวิธีที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้นานกว่านั้น
               

     ซึ่งทำได้หลายวิธี คือ
 

      1.เพิ่มเงินเข้าสู่ธุรกิจ อาจจะใช้วิธีกู้เงิน หรือระดมทุนจากพ่อแม่พี่น้อง หรือควักเงินตัวเองใส่เข้าไปเพิ่ม


      2.เพิ่มรายได้ หาว่ามีอะไรที่ทำให้มีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากสินค้าและบริการเดิม ซึ่งวิธีนี้ก็จะทำให้อัตราสูญเสียของธุรกิจลดลง


     3.ลดค่าใช้จ่าย ต้องดูว่าไปลดอะไรได้บ้าง ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เป็นต้นทุนคงที่คือพนักงาน ซึ่งมีวิธีลดได้หลายแบบ เช่น คุยกับพนักงานโดยตรงว่าอาจจะพักงานโดยไม่จ่าย (Leave without pay) หรือ ลดเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะกระทบผู้บริหารก่อน ในขั้นถัดมาหากยังคุมสถานการณ์ไม่อยู่อาจจะต้องคุยกับพนักงานว่าต้องเลิกจ้าง (Layoff) ซึ่งต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงาน ซึ่งต้องคำนวณว่าต้องจ่าย 1-3 เดือน ประกอบกับคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร หากสถานการณ์อยู่แค่ 3 เดือน อาจจะไม่เลิกจ้างก็ได้ แต่หากคำนวณแล้วว่าเศรษฐกิจจะแย่ไปอีกครึ่งปีหรือมากกว่านั้น การเลิกจ้างพนักงานอาจเป็นคำตอบ 





     สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ใช้เงินตัวเองดำเนินธุรกิจ
ในสถานการณ์นี้อาจเป็นข้อได้เปรียบเพราะไม่มีภาระที่ต้องผ่อนหรือจ่ายดอกเบี้ยเป็นปัจจัยเพิ่มเติม แต่ถึงแม้จะมีเงินเตรียมไว้ส่วนหนึ่งก็จริงแต่อาจไม่พอ การกู้เงินก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่ทำให้มีเงินมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งในขณะนี้มี Soft Loan (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) เข้ามาเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ


     ธุรกิจที่ผลประกอบการเติบโตมาโดยตลอดหรืออยู่ตัวมานาน มีเงินทุนหมุนเวียน (cash flow) ดีมาตลอดจนกระทั่งมาเจอวิกฤตที่ทำให้ธุรกิจเสียศูนย์ไปประมาณ 4-5 เดือนสามารถขอกู้ได้ ซึ่งภาคการเงินเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นภาวะช็อค ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติธนาคารก็ได้รับเงินคืน
 


     สำหรับธุรกิจที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธนาคารอยู่แล้ว ภาคธนาคารมีมาตรการส่งเสริมจำนวนมาก ทั้งนโยบายให้พักเงินต้น พักดอกเบี้ยจำนวน 3-6 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสินเชื่อธุรกิจของตัวเอง โปรดจำไว้ว่าสิ่งที่ธนาคารไม่ชอบที่สุดคือลูกหนี้หายไป และ สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การกู้นอกระบบ


     “ในสถานการณ์ปกติคนมักไม่กล้าบอกธนาคารว่าเงินช็อตเพราะกลัวว่าจะเสียเครดิต แล้วมักจะใช้วิธีการผิดๆ คือกู้เงินนอกระบบเพราะบางคนรู้สึกว่าเป็นเงินระยะสั้น ปล่อยง่าย แค่โทรไปบอกเขาก็โอนเงินมาแล้วและคืนเงินภายในสิ้นเดือน ซึ่งเป็นกระบวนการที่รวดเร็วมากแต่ดอกเบี้ยแพง หากไม่สามารถจ่ายได้ในระยะเวลาสั้นจะกลายเป็นข้อเสียที่ไม่คุ้มทั้งด้านการเงินและสุขภาพจิต” ภีมบอกแบบนั้น


     เขาให้คำแนะนำว่าผู้ประกอบการที่กู้เงินธนาคารอยู่แล้วสามารถเข้าไปเจรจาเพื่อขอลดการจ่ายหรือบางทีของดการจ่ายเลยก็ได้ ซึ่งธนาคารมักยอมอยู่แล้วเพราะส่วนหนึ่งเป็นนโยบายจากภาครัฐที่ธนาคารได้รับเงินสนับสนุนให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ ขณะเดียวกันธนาคารก็เข้าใจสถานการณ์และไม่ต้องการให้ธุรกิจของลูกค้าล้มเพราะเท่ากับกลายเป็นหนี้สูญ ท้ายที่สุดเมื่อพ้นวิกฤตแล้วบริษัทไม่มีเงินจริงๆ อาจขอ Hair cut หนี้ หรือขอลดหนี้ให้คงเหลือเพียงจำนวนเงินที่จ่ายได้เท่านั้นก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน


     “มาตรการช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐมีหลายอย่าง ตั้งแต่การพักชำระหนี้ พักการจ่ายคืน หรือปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ผมยังอยากให้มีการกระจายสินเชื่อให้เข้าถึงธุรกิจ SME มากกว่านี้ เพราะธนาคารมักให้เงินกู้สินเชื่อต่ำกับลูกค้าเดิมก่อน ซึ่งเข้าใจได้เพราะเขากลัวว่าลูกค้าล้มแล้วพอร์ตสินเชื่อหลักของเขาจะล้มไปด้วย แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งคือ SME ที่เดิมทีเข้าไม่ถึงสินเชื่อแล้วตอนนี้ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ภาครัฐต้องสร้างแรงผลักดัน (Incentive) ให้ธนาคารพาณิชย์ยอมปล่อยเงินกู้พอร์ตใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ไม่อย่างนั้นธุรกิจที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารอาจจะล้ม ซึ่งก็จะกระทบเป็นโดมิโนไปถึงลูกค้าของเขาอยู่ดีเพราะอยู่ในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน”
 





     2 มุมมองของภาวะวิกฤต อันตรายและโอกาส


     ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า วิกฤต ประกอบด้วยตัวคันจิ 2 ตัวผสมกัน คือ อันตรายและโอกาส แม้ว่าจะได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสในช่วงนี้ก็ตาม อีกมุมหนึ่งก็เป็นเวลาที่ธุรกิจต้องปรับตัวและมองว่าในอนาคตจะมีอะไรเปลี่ยนไป และกระทบกับธุรกิจอย่างไรบ้าง
 

     “บางคนโฟกัสอยู่แค่ตอนนี้ มันเป็นเรื่องปกติที่เวลาเราเจอวิกฤตแล้วจะสายตาสั้นเห็นแต่ปัญหา เราลองอยู่นิ่งๆ ตั้งสติคิดวิเคราะห์แล้วเอากระดาษมานั่งเขียนว่ายังขาดอะไรในสังคมนี้ ในประเทศนี้ ในระบบเศรษฐกิจนี้ ถ้าผ่านครั้งนี้ไปได้ เราควรต้องคิดว่าจะมีโอกาสอะไรที่จะเกิดขึ้น ลองลิสต์สิ่งที่มันจะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าเราจะเริ่มเห็นโอกาสของธุรกิจตัวเอง”


     สำหรับภีม เขาเห็นภาพธุรกิจจะดำเนินงานผ่าน Cloud มากขึ้นซึ่งจะทำให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้มากขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดในตอนนี้อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกก็ได้ ผู้ประกอบการต้องตระหนักว่าทำอย่างไรธุรกิจจึงจะดำเนินต่อไปได้ในทุกสภาวะ


     “คนจะเริ่มตระหนักได้ว่าเราสามารถ Work from Home ได้ เมื่อก่อนคนอาจสงสัยว่าการทำงานจากที่บ้านจะดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ทุกวันนี้เราถูกบังคับให้ลองและผมเชื่อว่ามีหลายคนติดวิธีนี้ สิ่งที่จะตามมาคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ธุรกิจสตรีมมิ่งจะดีขึ้น เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น มีเวลามากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่ออยู่บ้านมากขึ้นการเดินทางน้อยลง ความต้องการใช้พลังงานน้ำมันอาจจะลดลงด้วยหรือเปล่า หากเราทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นร้านค้าอยู่ในปั๊มน้ำมันก็อาจต้องคิดว่าต้องเปลี่ยนไปขายผ่านช่องทางออนไลน์หรือเปลี่ยนทำเลไหม”
อีกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับด้านบัญชีและการเงิน จะเห็นได้ชัดว่าภาวะวิกฤตทำให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจเรื่องการบริหารเงินสดมากขึ้น


     “เงินสดเป็นเรื่องเดียวที่จะทำให้ธุรกิจอยู่หรือตาย บางบริษัทขาดทุนตลอดแต่ยังอยู่ได้เพราะมีเงินสด ธุรกิจต้องรู้เรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้เขาสามารถบริหารความเสี่ยงทางการเงินในสถานการณ์ตอนนี้ได้ และในอนาคตเขาจะเริ่มรู้ว่าเงินสดเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะงบกระแสเงินสดทำให้เห็นภาพได้มากขึ้น”






     โดยปกติแล้วงบทางการเงินที่ผู้ประกอบการดูมากที่สุด คือ งบกำไร-ขาดทุน ทั้งที่จริงแล้วงบกระแสเงินสดก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเป็นงบที่บอกสถานการณ์แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งกระแสเงินสดที่หมุนเวียนในธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ


     1. กระแสเงินสดในการดำเนินงาน เช่นกันจ่ายเงินเดือนไปเท่าไหร่หรือมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่ 


     2. กระแสเงินสดในการลงทุน คอมพิวเตอร์ ซื้อเครื่องจักร ซื้อโต๊ะ มีการซื้อของหรือลงทุนเพิ่มไหม หรือขายสินทรัพย์เหล่านี้ออกไปเพื่อให้ได้เงินกลับมา ทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจลงทุนไปอย่างไรบ้าง


     3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน ก็คือ กู้เงินเพิ่มไหม จ่ายเงินเจ้าหนี้ไปเท่าไร หรือระดมทุนจากนักลงทุน หรือจ่ายคืนเงินปันผลออกไป 


     เมื่อผู้ประกอบการเห็นข้อมูลในงบกระแสเงินสดจะเริ่มรู้ว่าเงินที่จ่ายไปนั้นไปไหนบ้าง ไปอยู่ที่สินค้าหรือจ่ายคืนเจ้าหนี้ หรือเห็นว่าได้รับเงินจากลูกค้าไม่เต็มจำนวน สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่ไม่สามารถรู้ได้จากงบกำไร-ขาดทุน แต่งบกระกระแสเงินสดจะบอกการเปลี่ยนแปลงของเงินที่เมื่อรู้และเข้าใจก็จะทำให้กังวลกับสถานการณ์ของธุรกิจน้อยลงและเตรียมรับมือได้


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้