5 วิธีดูแลกระแสเงินสด

 




เรื่อง : คัมภีร์เงิน

    เวลาเศรษฐกิจตกสะเก็ด สภาพการเงินก็มักจะติดขัด จะกู้จะยืมก็ยากเย็น ซึ่งกระแสเงินสด หรือ Cash Flow เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของกิจการ SME ต้องพึงระวังไม่ให้ติดขัด วิธีป้องกันกระแสเงินสด 5 ประการต่อไปนี้ จะช่วยให้กิจการของคุณไหลลื่นไปได้ในช่วงขาลงแบบนี้

1.คาดการณ์ล่วงหน้า

    ปัจจัยหนึ่งในการจัดการกับเจ้าพายุเศรษฐกิจ ก็คือ คุณต้องรู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่และมันกำลังหันไปในทิศทางใด คุณต้องจับตามองตัวชี้วัดต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น ดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ราคาหุ้น ฯลฯ จากนั้นให้เตรียมแผนการใช้เงินสดสำหรับปีถัดไป การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณมองการณ์ไกลแบบมีแผนว่าเมื่อใดจะมีการเปลี่ยนแปลงและต้องใช้เงินมากน้อยเพียงใด หรือหากมีเหตุการณ์สักอย่างเกิดขึ้นแล้วทำให้กระแสเงินสดของคุณตกลงไป คุณจะทำอย่างไร
 


2.ตรวจสอบนโยบายการให้สินเชื่อของบริษัทและประวัติชำระเงินของลูกค้า

    การจัดการสินเชื่อของลูกค้านั้นสำคัญมากต่อกระแสเงินสด กำจัดลูกค้าที่ไม่มีประโยชน์ นั่นหมายถึง พวกที่คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลมากกว่าทำประโยชน์ให้คุณ แยกลูกค้ากลุ่มที่มีประวัติชำระเงินล่าช้าออกมา จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องยืดระยะเวลาการให้สินเชื่อให้กับทุกคน หากลูกค้ามีประวัติชำระช้า คุณควรเปลี่ยนระยะเวลาการให้สินเชื่อหรือหากจำเป็นจริงๆ ก็ต้องใจแข็งไม่ให้สินเชื่อเลยโดยบังคับว่าต้องจ่ายเงินสดเท่านั้น

3.กระตือรือร้นที่จะตามเก็บเงิน

    สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อส่งสินค้าหรือบริการ ก็คือต้องส่งใบเรียกเก็บเงินทันที ไม่ต้องกลัวว่าลูกค้าจะหาว่าเราขี้งก แต่เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณใส่ใจในเรื่องการจ่ายเงินนะ จากนั้นคุณต้องจัดให้มีมาตรการการติดตามการจ่ายหนี้อย่างชัดเจน เช่น ใส่วันนัดชำระลงในเอกสารให้ชัดเจน หรือส่งจดหมายแจ้งเตือนหากการนัดชำระล่าช้า การเก็บเงินได้นั้น ดีต่อกระแสเงินสดมากกว่าการเป็นหนี้อยู่แล้ว
 


 

4.ขอยืดระยะเวลาจ่ายเงิน

    ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คุณเองก็ต้องเป็นลูกหนี้เหมือนกัน ปกติแล้วระยะเวลาการให้สินเชื่อของซัพพลายเออร์มักจะอยูที่ 30 วัน หากคุณสามารถต่อรองขอยืดระยะออกเป็น 60 วัน หรือ 90 วัน ก็จะช่วยให้คุณมีเงินสดในกระแสนานขึ้น

5.ต่อรองสัญญาใหม่

    เจ้าของตึก ผู้ให้กู้ หรือผู้รับเหมา ไม่ว่าใครก็ตามคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ทำไมคุณไม่ลองต่อรองสัญญาเช่าหรือสัญญาอื่นๆ ที่ทำอยู่ ตัวอย่างเช่น หากเขาต้องการขึ้นค่าเช่าสถานที่ คุณก็อาจต่อรองให้ได้ราคาเดิมหรือราคาที่คุณรับได้ ในขณะที่ตึกอื่นหาคนเช่าไม่ได้จะมาขึ้นราคาคนเก่าทำไม
 


 

    เชื่อเถอะว่าการที่เงินออกไปจากบริษัทนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเงินมันก็ต้องออกไปอยู่แล้ว แต่การหาเงินเข้าให้ได้อย่างสม่ำเสมอนี่สิน่าปวดหัวกว่า หากคุณทำตามคำแนะนำข้างต้นได้ก็จะช่วยให้กระแสเงินสดของคุณหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


Create by smethailandclub.com

 

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน