Main Idea
- ในการทำธุรกิจไม่ว่าใครก็หวังอยากได้กำไรดีๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่หลายครั้งที่ผู้ประกอบการหลายคนอาจคำนวณถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ผิดพลาด ดังนั้นวันนี้เราจึงนำวิธีการคิดคำนวณกำไรทางธุรกิจมาฝากกัน
- นอกจากจะแสดงตัวเลขกำไรของธุรกิจให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังสามารถนำมาช่วยประเมินผลการประกอบการของธุรกิจ รวมถึงการวางแผนธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย
ทำธุรกิจ ใครๆ ก็หวังอยากได้กำไรด้วยกันทั้งนั้น แต่เคยคิดกันไหมว่า จริงๆ แล้วจากยอดขายที่เราได้มานั้น แท้จริงแล้วกลับคืนมาเป็นกำไรให้กับเราจริงๆ สักเท่าไหร่ บางครั้งเราอาจคิดว่าได้กำไรเยอะ แต่จริงๆ แล้วอาจมีต้นทุนแฝงอีกมากมายที่เราไม่ทันคิดก็ได้ การคำนวณกำไรที่แท้จริงจะต้องคิดจากอะไรบ้าง วันนี้จึงอยากชวนผู้ประกอบการ SME ลองมาสำรวจตรวจเช็คสุขภาพธุรกิจถึง “ต้นทุน-กำไร” กัน
- กำไรขั้นต้น = รายได้จากการขาย – ต้นทุนของสินค้า
อันดับแรกให้ทำความเข้าใจถึงกำไรขั้นต้นก่อน สิ่งสำคัญ คือ การทราบความแตกต่างระหว่างต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่
ต้นทุนผันแปร คือ ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงตามปริมาณการผลิตภัณฑ์ที่ผลิต และที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการผลิตสินค้า ได้แก่ ค่าวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงทางตรง ค่าบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ต้นทุนคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าวัสดุอุปกรณ์สาธารณูปโภค เงินเดือนและค่าแรงของพนักงานที่จ่ายเท่ากันทุกๆ เดือน ค่าเช่าสถานที่ โรงงาน คลังสินค้า และค่าเครื่องจักรกลต่างๆ ที่นำมาใช้ผลิตด้วย ทั้งนี้จะรวมถึงค่าเสื่อมราคาสำหรับอุปกรณ์การผลิตด้วย
คำนวณได้ดังนี้
เสื้อผ้าแบรนด์ ABC มียอดขายอยู่ที่ 100,000 บาท และมีต้นทุนผลิตสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ 45,000 บาท
ดังนั้นกำไรขั้นต้น คือ 100,000 – 45,000 = 55,000 บาท
- อัตราส่วนกำไรขั้นต้น = (กำไรขั้นต้น / ยอดขาย) x 100
โดยหลังจากที่เราคำนวณกำไรขั้นต้นการผลิตสินค้าต่างๆ ออกมาได้แล้ว ต่อมา คือ การหาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GPM) คือ การเปรียบเทียบระหว่างผลกำไรขั้นต้นกับยอดขาย เพื่อใช้วัดผลและประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินกิจการ
คำนวณได้ดังนี้
เสื้อผ้าแบรนด์ ABC มียอดขายอยู่ที่ 100,000 บาท และมีกำไรขั้นต้นหลังหักต้นทุนการผลิตแล้วอยู่ที่ 55,000 บาท
ดังนั้นอัตราส่วนกำไรขั้นต้น = (55,000 / 100,000) x 100
= 55 เปอร์เซ็นต์
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่ายอดขาย 100 บาทของเสื้อผ้าแบรนด์ ABC จะทำกำไรขั้นต้นได้ที่ 55 บาท ซึ่งเจ้าของกิจการสามารถนำอัตรากำไรนี้ไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งต่างๆ เพื่อหาจุดอ่อนจุดแข็งของตนได้ รวมถึงเป็นการวัดประสิทธิภาพผลประกอบการของตนกับคู่แข่งในตลาดอีกด้วยว่าอยู่ในระดับใดของตลาด
โดยหากอัตราส่วนกำไรขั้นต้นที่คำนวณมีค่ามาก แสดงว่ากิจการน่าลงทุน สามารถทำกำไรได้ดี ลงทุนน้อย แต่อาจได้ผลกำไรเยอะขึ้น เป็นการบริหารจัดการการผลิตได้มีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันหากอัตราส่วนกำไรขั้นต้นมีค่าน้อย แสดงว่าธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้ดี คือ ลงทุนไป แต่ได้ผลกำไรกลับมาน้อย ซึ่งเจ้าของกิจการควรปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น หรือบางครั้งอาจเป็นเพราะการมีคู่แข่งอยู่มาก จึงทำให้ไม่สามารถตั้งราคาสูง เพื่อทำกำไรได้ดี
ซึ่งการเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจได้มีสองวิธี คือ 1. เพิ่มราคาขาย 2. ลดต้นทุน แต่การเพิ่มขึ้นของราคาอาจทำให้ยอดขายลดลง ซึ่งหากยอดขายลดลงมากเกินไป ก็อาจไม่สามารถสร้างกำไรขั้นต้นได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ฉะนั้นก่อนคิดขึ้นราคาต้องระมัดระวังให้ดี ต้องดูปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างด้วย
ในส่วนของการลดต้นทุนนั้น สามารถทำได้โดยการทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ประหยัดไฟ ลดขั้นตอนกระบวนการที่ไม่จำเป็นออก ทั้งนี้อาจรวมถึงการซื้อวัตถุดิบต่างๆ จากซัพพลายเออร์จำนวนมากขึ้น เพราะยิ่งซื้อมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง แต่ทั้งนี้ต้องลองคำนวณความคุ้มค่าในการลงทุนไว้ล่วงหน้า รวมถึงวางแผนกระบวนการผลิต การกระจายสินค้า และการใช้จ่ายอื่นๆ ให้ดีด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจากต้นทุนราคาที่ถูก อาจกลายเป็นเงินจมแทนก็ได้
- อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ / รายได้รวม x 100
นอกจากการคิดคำนวณหาอัตรากำไรขั้นต้น เพื่อลองประเมินประสิทธิภาพของสินค้าและบริการของธุรกิจแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากของการทำธุรกิจ คือ การคำนวณหาอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่นำค่าใช้จ่ายจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นและรายรับรวมทั้งหมดของกิจการมาหักลบ เพื่อหายอดเงินคงเหลือที่แท้จริง ซึ่งรวมไปถึงดอกเบี้ยและภาษีต่างๆ ด้วย โดยมีโอกาสเป็นไปได้ว่าในบางครั้งอัตรากำไรขั้นต้นของกิจการอาจสูงกว่ากำไรสุทธิจริง
คำนวณได้ดังนี้
เสื้อผ้าแบรนด์ ABC มียอดขาย 100,000 บาท
ต้นทุนผลิตสินค้า 45,000 บาท
กำไรขั้นต้น คือ 55,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในการขาย 5,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 10,000 บาท
รวมกำไรก่อนเสียภาษีเงินได้ 40,000 บาท
ภาษีเงินได้ 2,000 บาท
ดังนั้นกำไร (ขาดทุน) สุทธิ 38,000 บาท
อัตรากำไรสุทธิ = 38,000 / 100,000 x 100 = 38 เปอร์เซ็นต์
ฉะนั้นในการคำนวณเพื่อค้นหากำไรของธุรกิจที่แท้จริงและประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงควรมองปัจจัยทั้งสองส่วน คือ ทั้งอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ เพื่อให้ได้ข้อมูลผลประกอบการของธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น จะได้นำมากำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ และทิศทางที่จะไปต่อได้อย่างแม่นยำขึ้นนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี