EXIM BANK หนุนผู้ประกอบการไทยปรับตัว รับมือความเสี่ยงการค้าระหว่างประเทศ




     EXIM BANK ชูนโยบายโอกาสครบรอบ 26 ปี ยังคงเคียงข้างธุรกิจส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ควบคู่กับขยายบริการทางการเงิน ข้อมูลข่าวสาร และอบรมบ่มเพาะให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยปรับตัวรับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ โดยเยียวยาผลกระทบระยะสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม บรรเทาการแข็งค่าของเงินบาท ผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยไม่หดตัวในปี 2563
 

     พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งการปรับสมดุลของโลก เพื่อลด “ความเสี่ยง” ในหลายมิติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ประกอบด้วย 1. มิติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลของการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมาอย่างยาวนาน จนทำให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ขณะที่จีนก็ตอบโต้โดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ยังคงส่งผลกดดันบรรยากาศการค้าของโลกและของไทยในปีนี้ ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งเกิดจากสภาพคล่องล้นโลกและนโยบายการเงินกลับทิศทาง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน อยู่ในระดับต่ำเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าหลายชนิดที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 2. มิติการเมืองและสังคม ความขัดแย้งในหลายประเทศล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ กำลังซื้อของประชาชน และเศรษฐกิจโลกโดยรวม 3. มิติสิ่งแวดล้อม ทั้งภัยธรรมชาติและโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก
 

     ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจเป็นระบบเปิด ขนาดเล็ก พึ่งพาตลาดต่างประเทศในสัดส่วนสูง มีอำนาจต่อรองไม่สูงนัก เผชิญกับภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่แฝงด้วยความไม่ยั่งยืนจากปัญหาความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณมากกว่าราคา เนื่องจากสินค้าไทยมีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคในอัตราขยายตัวสูงกว่าการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการลงทุนอยู่มาก กดดันให้เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกไทยจึงมีรายรับในเทอมเงินบาทลดลงและสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งชาติอื่น
 

     จากความเสี่ยงของโลกในมิติเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม  และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยเผชิญความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และความยากลำบากในปี 2563


•              ระยะสั้น EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือทางการเงิน ทั้งสินเชื่อและประกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุน และคุ้มครองความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งโปรแกรมสินเชื่อพิเศษและมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย


•              ระยะยาว EXIM BANK มีบริการทางการเงินที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยปรับสมดุลโครงสร้างการส่งออกและนำเข้าของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย ตลอดจนสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนใน EEC และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve เพื่อสร้างฐานการผลิตด้านนวัตกรรมของประเทศ ควบคู่กับการให้ข้อมูลข่าวสารและจัดโครงการอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC)


 
     ทั้งนี้ เพื่อร่วมผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยในปี 2563 พลิกกลับมาโตเป็นบวกได้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
 
               
      ด้านผลการดำเนินงานปี 2562 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 121,868 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ โดยเพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาทหรือ 12.23 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อการลงทุน 82,968 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 197,106 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,749 ล้านบาท คิดเป็น 54.16 เปอร์เซ็นต์ โดยสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ 43,123 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 4.60 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,606 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 7,804 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 143.15 เปอร์เซ็นต์  ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
 
               
     สำหรับผลการดำเนินงานด้านประกันการส่งออกและการลงทุนของ EXIM BANK ในปี 2562 มีปริมาณธุรกิจสะสมเท่ากับ 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 22,592 ล้านบาท หรือ 18.61 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
                 

     ขณะเดียวกัน การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 92,367 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 47,454 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ณ ปี 2562 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญได้เปิดดำเนินงานและทำงานร่วมกับทีมไทยแลนด์นำโดยเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามต่อไป
 

      “ท่ามกลางความไม่สมดุลและความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ รับมือให้ทันและไม่หยุดรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK อยู่เคียงข้างและคอยสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและไม่สะดุด ขณะเดียวกันผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยต้องวางแผนระยะยาวที่จะแข่งขันให้ได้ในเชิงคุณภาพ โดยใช้โอกาสในภาวะเงินบาทแข็งค่านี้ลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-curve และพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในตลาดโลกยุคดิจิทัลนี้” พิศิษฐ์กล่าว
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้