Main Idea
- สถานการณ์ส่งออกปี 2562 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 246,244.5 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 236,639.9 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 4.66 ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเกินดุล 9,604.6 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นการเกินดุลการค้าติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ของไทย
- ในปี 2563 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยว่าจะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ที่ร้อยละ -1.0 YoY จากประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของประเทศคู่แข่งทางการค้า
ยังคงเจอกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทย ที่ในปีที่ผ่านมาต้องเจอกับโจทย์
หนักรอบทิศ จนทำให้ตัวเลขส่งออกไทยทั้งปีหดตัวลงร้อยละ 2.65 และคาดกันว่าปีนี้ยังคงต้องเจอความหนักหน่วงไม่แตกต่าง นี่คือบททดสอบสำคัญของผู้ประกอบการ SME ที่ทำส่งออกและเกี่ยวข้องกับการส่งออก ที่ต้องรู้เท่าทันสถานการณ์และเตรียมรับมือให้พร้อม
- ย้อนรอยส่งออกปี 2562
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 พบว่า มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 246,244.5 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับปี 2561 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าไทยในปี 2562 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 236,639.9 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 4.66 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเกินดุล 9,604.6 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นการเกินดุลการค้าติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ของไทย (นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา)
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า อยู่ที่ 19,154 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้แม้จะหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ก็เป็นในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562
โดยรายสินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัวสูงในเดือนธันวาคม 2562 ได้แก่ ข้าว (หดตัวร้อยละ 41.14 YoY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (หดตัวร้อยละ 24.03 YoY) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 14.58 YoY) รวมไปถึงสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอย่างเคมีภัณฑ์ (หดตัวร้อยละ 22.37 YoY) และเม็ดพลาสติก (หดตัวร้อยละ 8.91 YoY)
- ส่งออกไปจีนและสหรัฐโตก้าวกระโดด
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนและสหรัฐฯ กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเดือนธันวาคม 2562 ที่ร้อยละ 7.3 YoY และร้อยละ 15.6 YoY ตามลำดับ ซึ่งน่าจะเป็นผลของปัจจัยชั่วคราว โดยการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวดีในเดือนสุดท้ายของปี 2562 ส่วนหนึ่งมาจากฐานการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ต่ำในปีก่อนจากอุปสงค์อิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่ 5G ในส่วนของการส่งออกสินค้าไทยไปจีนในเดือนธ.ค. 2562 นั้น ส่วนหนึ่งมีการเร่งนำเข้าสินค้าบางรายการก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือน ม.ค. 2563 นอกจากนี้ การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปจีน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 110.01 YoY ซึ่งมาจากการนำเข้าลำไยและทุเรียน (ทั้งสดและแช่แข็ง) ที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นสำคัญ
- ค่าเงินบาท-เศรษฐกิจโลก โจทย์ท้าทายส่งออกปี’63
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 ว่า จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ที่ร้อยละ -1.0 YoY (กรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง 1.0) โดยยังให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของประเทศคู่แข่งทางการค้า
โดยในปัจจุบัน เงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2563 (ถึงวันที่ 22 ม.ค. 2563) อยู่ที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแม้จะอ่อนค่าลงจากช่วงสิ้นปี 2562 ทีผ่านมา แต่ก็นับเป็นระดับที่แข็งค่ากว่าค่าเฉลี่ยในปี 2562 ที่อยู่ที่ระดับ 31.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในขณะที่ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแม้จะลดระดับความตึงเครียดลงบ้าง หลังทั้งสองประเทศบรรลุความตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase 1) ร่วมกัน แต่ก็คงไม่ได้เปลี่ยนภาพการค้าโลกในปี 2563 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยเงื่อนไขความตกลงทางการค้าในเฟสแรกเป็นการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งทำให้สินค้าจีนส่วนใหญ่ยังเผชิญอัตราภาษีในปี 2563 ไม่แตกต่างไปจากปีก่อนหน้ามากนัก
และนี่คือความท้าทายที่ผู้ประกอบการส่งออกไทยปี 2563 ยังต้องจับตาและเตรียมรับมือ เพื่อให้ปีหนูยังเป็นปีทองของ SME ไทย ไม่ต้องบาดเจ็บหรือเสียท่าให้กับสถานการณ์ส่งออกปี 2563
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี