วางแผนการเงิน 2020 เริ่มต้นดีตั้งแต่ต้นปี เฮงไปจนถึงท้ายปี




Main Idea
 
 
  • ในวาระสิ้นปีเก่า เริ่มต้นปีใหม่ เป็นอีกช่วงเวลาดีๆ ที่ผู้ประกอบการหลายคนจะได้ตั้งเป้าธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะการวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าธุรกิจของคุณจะสามารถไปได้รอด หรือเติบโตเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
 
  • ต่อไปนี้ คือ คำแนะนำการวางแผนการเงินสำหรับธุรกิจในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถวางแผนได้ดี และปฏิบัติได้จริงก็จะช่วยให้ธุรกิจคุณดีตั้งแต่ต้นปี เฮงจนถึงท้ายปีได้ทีเดียว



      เป็นประจำของทุกปีเมื่อเวียนมาถึงวาระสิ้นปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่เรามักจะตั้งเป้าหมายบางอย่างให้กับชีวิต รวมถึงสิ่งที่ต้องทำในปีหน้า เพื่อเป็นธงในการดำเนินชีวิตให้กับตัวเราเอง ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายยอดฮิตนั้นก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าเรื่องสุขภาพ หน้าที่การงาน เดินทางท่องเที่ยว ไปจนถึงเรื่องของการเงินด้วย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลายที่ต้องมีภาระดูแลรับผิดชอบกิจการของตัวเอง และเหล่าพนักงานให้เติบโตตลอดรอดฝั่ง จนถึงพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป ลองมาดูวิธีวางแผนบริหารการเงินให้ดีตั้งแต่ต้นปี จนถึงท้ายปีกัน
 




      ของเก่ามีค่า อย่าทิ้ง
               

     ของเก่าในที่นี่ หมายถึง ประวัติการเงินด้านต่างๆ ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายรับ-รายจ่าย ต้นทุน การลงทุน กำไร ขาดทุนต่างๆ นานาทั้งหลาย เปิดย้อนไปดูสมุดบันทึก สมุดบัญชีเล่มเก่า ดูว่าหนึ่งปีที่ผ่านมานี้สภาพคล่องธุรกิจของคุณเป็นเช่นไร ทำเงินได้ดีจากอะไรบ้าง อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือสร้างผลตอบแทนให้น้อย ลองนำมาคิดพิจารณา วางแผนสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันก็อุดช่องโหว่ความเสี่ยง อะไรไม่ดีให้ตัดทิ้งไป อาจทำให้คุณพอได้ไอเดียวางแผนธุรกิจและแผนการเงินของตัวเองได้บ้าง  
 




      มองหารายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

               

      เพื่อความปลอดภัย และอยู่ให้รอดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวล่วงหน้าถึงค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นว่า ในตลอดระยะเวลาปีหน้าที่จะถึงนี้ ธุรกิจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอะไรบ้าง ให้มองเผื่อไว้ล่วงหน้า 12 เดือนได้เลยยิ่งดี อย่างแรกลองดูจากรายจ่ายประจำที่จะเกิดขึ้นก่อน เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าจ้างพนักงาน คำนวณออกมาดูว่าแต่ละเดือนประมาณเท่าไหร่ เพื่อให้รู้ว่าอย่างน้อยๆ เราก็ต้องสำรองเงินทุนเอาไว้จ่ายก้อนนี้ โดยทั้งนี้มีการกล่าวไว้ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อธุรกิจนั้นๆ อย่างน้อยๆ ต้องมีเงินทุนสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายเตรียมไว้ 3 - 6 เท่า ของรายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อป้องกันธุรกิจไม่ให้สะดุด ชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือขาดเงินทุนหมุนเวียนนั่นเอง ซึ่งอย่าลืมว่านอกจากรายจ่ายประจำ ก็อาจมีรายจ่ายไม่คาดฝันตามมาอีกก็ได้ ต้องคาดการณ์เผื่อไว้ให้ดีๆ
 




      สำรวจแผนรายรับล่วงหน้า หรือเงินทุนที่มีอยู่
               

      ถึงจะมีการวางแผนค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าให้อุ่นใจแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราก็ต้องมาดูรายรับที่อาจเกิดขึ้นจริงเอาไว้ล่วงหน้าด้วย ว่าสามารถทำให้มีเงินทุนสำรองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่วางไว้ไหม เพราะแน่นอนในแต่ละเดือนเราอาจสามารถคำนวณรายจ่ายประจำที่เกิดขึ้นได้ (ไม่นับรวมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น) แต่รายรับมักเป็นสิ่งไม่แน่นอน และมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้นจึงควรคิดเผื่อไว้ว่าในแต่ละเดือนเราจะมีรายรับประจำเข้ามาจากทางไหนได้บ้างและจำนวนเท่าไหร่ โดยให้คิดถึงจำนวนที่เป็นไปได้น้อยที่สุดก่อน เพื่อดูว่าสามารถครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไหม ถ้าเดือนไหนรายได้เข้ามาน้อยเราจะทำยังไง ต้องไปหาจากที่ไหนเพิ่ม หรือสำรองไว้ได้แค่ไหนบ้าง
 



      หาลู่ทางทำเงินเพิ่ม
               

     ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแผนที่ต้องเตรียมเอาไว้ ถือเป็นการวางแผนรายรับเพิ่มอีกทาง เพราะแม้ในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็เท่ากับว่าเราได้ทำกำไรไว้ล่วงหน้า เป็นการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น นี่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คุณสามารถหารายได้มาจุนเจือธุรกิจเพิ่มได้ แต่โดยทั้งนี้แผนดังกล่าวควรคิดไว้อย่างรอบคอบและรอบด้านที่สุด คุณต้องคิดออกมาให้เป็นภาพชัดเจน ลงลึกในรายละเอียดถึงสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ต้องลงทุน ช่องทางการขาย ความคุ้มค่า ไปจนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นที่พอจะรับได้ไว้ล่วงหน้าด้วย จะลงทุนอะไรก็ขอให้อยู่บนพื้นฐานของกำลังและศักยภาพที่มีด้วย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มาก รวมถึงความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้น้อยนิดที่สุดด้วย แต่ในเศรษฐกิจเช่นนี้ ถ้าดูแล้วลงทุนเพิ่มไม่น่าจะทำได้ ก็ให้ลองเปลี่ยนเป็นแผนประหยัดค่าใช้จ่าย อะไรที่ไม่จำเป็นสามารถตัดออกได้ ก็ให้ลองทำดู ถือเป็นโอกาสดีในการสำรวจธุรกิจไปในตัวด้วย
 




      ตรวจเช็คแผนอยู่เป็นระยะๆ
               

       แผนการต่างๆ ที่เราวางไว้ จะสัมฤทธิ์ผลได้มากที่สุด คือ ก็คือ ต้องลงมือทำ ดังนั้นแล้วเราควรนำแผนหรือเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้ออกมาตรวจเช็คเป็นระยะๆ กับสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้หรือเปล่า มีปัจจัยเสี่ยงอะไรแทรกเข้ามาที่น่าเป็นห่วงไหม หรือแผนดังกล่าวยังเหมาะกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไหม โปรดจำไว้ว่าทุกแผน คือ แนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เราเตรียมตัวหรือรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ไปจนถึงเป้าหมายอนาคตที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เมื่อได้นำไปใช้จริงบ้าง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ การทำได้ไม่ตามแผน ไม่ได้หมายถึงการล้มเหลว เพราะปัจจัยบางอย่างก็อยู่เหนือการควบคุม แต่อย่างน้อยๆ หากคุณตั้งใจจริง แม้จะได้เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ซึ่งแต่ละแผนก็เหมาะกับแต่ละบุคคลแต่ละธุรกิจ เราสามารถวาดแผนของเราขึ้นมาเองได้ โดยไม่ต้องใช้มาตรฐานวัดจากใคร
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้