เจอแน่! “เงินบาทแข็ง-ภัยแล้ง-การปรับขึ้นค่าแรง” 3 โจทย์หินที่ธุรกิจไทยต้องเผชิญในปี’63




Main Idea
 
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะขยายตัวที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับโจทย์หินทั้งเรื่อง เงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
  • โดยปี 2563 คาดว่า “เงินบาท” มีค่าเฉลี่ยรายปีที่แข็งค่ากว่าในปี 2562 “ภัยแล้ง” จะมีภาวะแล้งรุนแรงกว่าปี 2562 และ “การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ” ล่าสุดจะกระทบต่อต้นทุนธุรกิจ
 
  • ส่วนธุรกิจที่ยังพอไปได้ คือภาคการท่องเที่ยว ที่แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงกว่าที่คาด แต่ก็ยังมีตลาดที่สร้างโอกาส ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว จีน อาเซียน และอินเดีย รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย     
   


     เป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับการทำธุรกิจในปี 2563  หลังศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่าจะขยายตัวที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับโจทย์หินทั้งเรื่อง เงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กระทบกับคนทำธุรกิจไปถ้วนทั่ว
 




     รับศึกค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าปี
2562


     “เกวลิน หวังพิชญสุข” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด บอกว่า ในปี 2563 เงินบาทมีค่าเฉลี่ยรายปีที่แข็งค่ากว่าในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง เพราะตลาดส่งออกหลักยังมีทิศทางชะลอตัว จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ที่คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่า  ซึ่งนอกจากจะกระทบกับภาคการส่งออกแล้ว ยังส่งผลถึงภาคการผลิตที่จะหดตัวหรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงานตามไปด้วย


     โดยเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่าการจ้างงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง จากปี 2562 ที่หายไปใกล้แสนตำแหน่ง
 




      ภัยแล้งรุนแรงกว่าปี 2562


    มาต่อกันที่ภาคเกษตรฐานรากของประเทศไทย ที่ในปีหน้ายังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาภัยแล้ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภัยแล้งในปี 2563 จะมีภาวะแล้งรุนแรงกว่าปี 2562 เพราะเริ่มต้นปีด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่น้อยกว่าเดิมมากนั้น จะกระทบกับปริมาณผลผลิต มีผลให้จีดีพีภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัวลง ส่วนจะเข้าใกล้ภาวะแล้งเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่เกิดในปี 2558-2559 นั้นหรือไม่  คงเป็นประเด็นติดตามซึ่งไม่เกิน 3-4 เดือนแรกของปี 2563 ก็คงมีความชัดเจนขึ้นว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเข้ามาซ้ำเติมหรือไม่
 
 



      ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบต้นทุนธุรกิจ


      ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดนั้น แม้ว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 2563 จะจำกัด แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  มองว่าจะเพิ่มโจทย์ยากให้กับธุรกิจ โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5 บาทจากเดิม จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ธุรกิจเกษตร จะเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้งค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และค่าแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้  ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่ฟื้นตัวเพราะปัญหาที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่ยังมีอยู่อีกราว 200,000 หน่วยนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะสามารถจัดการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
 




      ท่องเที่ยวยังไปได้ จากตลาด จีน อาเซียน และอินเดีย


      อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจที่ยังไปได้ในปีหน้า คือธุรกิจท่องเที่ยว ที่แม้ว่าจะเห็นอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอลงมาที่ประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ จากที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวราว 4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 แต่ก็ยังมีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจีน อาเซียน และอินเดีย รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐสามารถส่งเสริมหรือออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้ เพราะมีสัดส่วนต่อจีดีพีรวมถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดอีกว่า ภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน และค่าเงิน จะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางตลาดการท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 ด้วย
 


               

     นี่คือ 3 โจทย์หินที่ SME ไทย ต้องเตรียมรับมือในปี 2563  ซึ่งแม้จะยังเป็นโจทย์ที่ยาก และเลี่ยงไม่ได้  แต่ถ้าผู้ประกอบการรู้จักเตรียมความพร้อม เรียนรู้ปัญหาให้เร็ว และปรับตัวให้ไว ก็เชื่อว่าจะยังมีโอกาสให้เติบโตได้ในปีหน้า
 

 


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้