พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม - กันยายน) ว่า EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 109,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,927 ล้านบาท หรือ 14.54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,378 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 74,366 ล้านบาท จากจำนวนนี้มีสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ 35,969 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 547 ล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 140,519 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 79,248 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 56.40 เปอร์เซ็นต์
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ขณะที่มูลค่าสินเชื่อของ EXIM BANK เติบโตขึ้น ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 4.96เปอร์เซ็นต์ โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,440 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 10,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,611 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 7,292 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 144.53เปอร์เซ็นต์ ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
ในการทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจส่งออกและโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ EXIM BANK ได้ขยายบริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจในตลาดเดิมและตลาดใหม่ได้อย่างมั่นใจ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 96,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,980 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 16,420 ล้านบาท หรือ 16.97เปอร์เซ็นต์
ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 83,432 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 42,766 ล้านบาท จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่โครงการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จำนวน 30,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,370 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของ CLMV ซึ่งยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักในการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบัน EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญ และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามต่อไป
พิศิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่านอกจากการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ในปี 2562 EXIM BANK ได้ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดใหม่ (New Frontiers) และเติมเต็มช่องว่างองค์ความรู้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 EXIM BANK ได้จัดอบรมเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้ ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 3,000 ราย เพื่อสร้างผู้ประกอบการไทยที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้ ช่วยให้สินค้าและบริการของไทยขยายส่วนแบ่งตลาดการค้าในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี