Main Idea
- แม้ในทุกวันนี้จะมีการใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น สร้างความสะดวกสบายทั้งต่อผู้ขายและผู้ซื้อ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมในการใช้เงินสดก็ยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้นแล้วเงินทอนก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในการตกลงซื้อขายสินค้าอยู่
- ลองมาดูเทคนิคการทอนเงิน ทอนยังไงให้ถูกต้อง แม่นยำ ไม่เข้าเนื้อ และได้ใจลูกค้ากัน
แม้ในยุคนี้จะมีการใช้จ่ายผ่านระบบแบบออนไลน์กันมากขึ้น เป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย ทั้งฝั่งพ่อค้าแม่ค้าและตัวลูกค้าเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเมืองไทยการใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบเงินสดกันซะมาก ฉะนั้นแล้วเงินทอนยังคงเป็นสิ่งสำคัญของการรับ-จ่ายเงินในการทำธุรกิจทุกวันนี้อยู่
ลองมาดูกันสิว่าจะมีวิธีนับเงินทอนยังไงให้ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ บางครั้งแค่เรื่องเล็กๆ อย่างเงินทอนก็อาจมัดใจลูกค้าได้เช่นกัน
แยกเงินทอนให้เป็นระเบียบ
อาจทำที่แยกเหรียญ แบงก์เล็ก แบงก์ใหญ่ นึกภาพตามง่ายๆ เหมือนช่องในเครื่องแคชเชียร์ตรงเคาน์เตอร์จ่ายเงินนั่นแหละ ซึ่งหากไม่ได้ใช้ก็ลองออกแบบหาอุปกรณ์ตามที่ถนัดดู วิธีการนี้นอกจากช่วยหยิบทอนเงินได้ง่ายและสะดวกแล้ว ยังช่วยให้ดูสะอาดตาเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่สำคัญเพิ่มความรวดเร็วทำให้ลูกค้าไม่ต้องรอนานอีกด้วย
เตรียมเงินทอนให้พร้อมทุกหน่วย
ก่อนการเปิดร้าน เจ้าของกิจการควรเตรียมเงินทอนให้พร้อมทุกหน่วย ไม่ให้ขาดหน่วยใดหน่วยหนึ่ง หรือมีอะไรมากน้อยเกินไป เช่น บางครั้งต้องทอน 100 บาท แต่แบงก์ร้อยขาด ทำให้ต้องนับแบงก์ยี่สิบ 5 ใบ อาจทำให้เกิดความล่าช้า พาลไปจนถึงนับถูกนับผิดก็ได้ หรือบางครั้งอาจต้องวิ่งไปแลกร้านข้างๆ ก็ยิ่งเสียเวลากันไปใหญ่
ค่อยๆ นับช้าๆ อย่างชัดเจน ให้มั่นใจ
แม้ลูกค้าต้องการความรวดเร็ว แต่บางครั้งความถูกต้องแม่นยำ ก็สำคัญกว่า การได้เงินทอนที่ถูกต้องครบถ้วน เป็นสิ่งที่ลูกค้าคนไหนๆ ก็พึงพอใจ (ยกเว้นทอนเกิน) โดยระหว่างนับอาจทวนคำพูดให้ลูกค้าได้ยินชัดเจน เป็นการช่วยตรวจสอบความถูกต้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ค่อยๆ ทอนอย่างรอบคอบ เผลอๆ ได้ขายของตรงเชลฟ์ที่รอ เหมือนเทคนิคแคชเชียร์ที่เห็นตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อทั่วไป
ลบเศษจากจำนวนเต็มก่อน
เช่น ซื้อ 46.50 บาท จ่าย 100 บาท ให้นึกถึงจำนวนเต็มที่ใกล้ที่สุดก่อน ซึ่งก็คือ 50 บาท จากนั้นนำมาลบออกเอา 46.50 บาทมาลบออกจาก 50 บาท จะเหลือ 3.50 บาท แล้วที่เหลือจึงค่อยทอนอีก 50 บาทเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเต็มนับไม่ยากแล้ว
นับต่อจากราคาขาย
เป็นเทคนิคที่พ่อค้าแม่ค้าใช้กันหลายคน โดยไม่ต้องมานั่งนับว่าต้องทอนเท่าไหร่ แต่ให้ใช้วิธีนับต่อจากราคาขายที่ลูกค้าต้องจ่ายไปเลย จนถึงจำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายมาให้ เช่น ซื้อ 37 บาท ให้แบงก์ร้อยไป เวลาทอนก็นับต่อไปเลย 38 -39- 40 จนถึงร้อย
เรียงแบงก์ใหญ่ไว้ล่างสุด
หลังจากมั่นใจว่านับเงินทอนได้ถูกต้องแม่นยำแล้ว เวลายื่นส่งมอบให้กับลูกค้าให้เรียงธนบัตรใหญ่สุดไว้ด้านล่าง วิธีการนี้นอกจากจะทำให้ดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ง่ายต่อการจับเก็บเข้ากระเป๋าสตางค์ของลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้เห็นเงินทอนได้ชัดเจน และถูกต้องแม่นยำมากขึ้นด้วย
ไม่ทอนแบงก์กับเหรียญรวมกัน
โดยส่วนใหญ่เวลาทอนเงินแล้วมีเศษเหรียญ ร้านค้ามักจะวางเหรียญไว้บนแบงก์ แล้วส่งมอบให้กับลูกค้า การทำเช่นนี้อาจดูเหมือนสะดวก แต่ความจริงแล้วอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เพราะยากต่อการที่ลูกค้าจะแยกมาตรวจนับ ดังนั้นควรแยกส่งเหรียญและแบงก์ให้ทีละครั้ง ลูกค้าจะได้ตรวจนับเหรียญก่อน และจึงค่อยนับดูแบงก์อีกที แต่หากมีแต่เหรียญที่ต้องทอนก็ให้หยิบเหรียญวางไว้ด้านบนใบเสร็จ เพื่อเวลาลูกค้ารับไปแล้วจะได้สะดวกเทเข้ากระเป๋าเศษสตางค์ได้ทันที แล้วจึงค่อยเก็บใบเสร็จไว้ตรวจสอบภายหลัง
เทคนิคดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ร้านค้าสามารถทอนเงินได้อย่างถูกต้องแม่นยำแล้ว ถามว่าเรื่องเล็กๆ อย่างเงินทอนนี้จะสามารถส่งผลอะไรกับธุรกิจได้บ้าง ตอบได้ว่ามีหลายข้อทีเดียว ตั้งแต่เมื่อร้านค้ามีการจัดเรียงเงินทอนไว้อย่างเป็นระบบ สิ่งแรกที่จะได้จากลูกค้า ก็คือ ความน่าเชื่อถือ อีกทั้งการตรวจนับที่ชัดเจนแม่นยำ ยังแสดงถึงความซื่อสัตย์และใส่ใจ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจได้เช่นกัน ซึ่งในทางกลับกันหากทางร้านไม่มีความชัดเจน ทอนเงินผิดพลาด ก็ทำให้ลูกค้าจดจำไปอีกนานเช่นกัน และนี่แหละเรื่องของเงินทอนที่สามารถส่งผลต่อธุรกิจรุ่ง! หรือร่วง! ได้เช่นกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี