ในภาวะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง SME ที่อยู่ในภาคการผลิตจำเป็นต้องมีการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มขึ้น สินเชื่อประเภท “ลีสซิ่ง-เช่าซื้อ” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนพร้อมกับยังเหลือสภาพคล่องในธุรกิจ แต่แท้จริงแล้วสินเชื่อสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันซึ่งSME สามารถเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการได้
หนึ่งในความแตกต่างระหว่างสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) กับสินเชื่อลีสซิ่ง (Leasing) อยู่ที่วิธีการลงบันทึกบัญชีในงบดุล กล่าวคือ ถ้าผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อเครื่องจักรจะต้องลงบัญชีระบุว่าเป็นสินทรัพย์ ซึ่งสามารถหักค่าเสื่อมราคาต่อปีซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของราคาเครื่องจักร ระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี รวมดอกเบี้ยจ่าย ผู้ประกอบการสามารถนำสองสิ่งนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้
กรณีที่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อมีส่วนที่เหมือนกันคือ จะลงบันทึกเป็นสินทรัพย์เช่นกัน เพราะผู้ประกอบการต้องการเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีเงินก้อน จึงต้องผ่อนชำระ การขอหัดลดหย่อนภาษีจึงอยู่ในหลักการเดียวกันกับการกู้เงิน แต่ถ้าเป็นสินเชื่อลีสซิ่ง ผู้ประกอบการจะไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของจนกว่าจะผ่อนชำระกับสถาบันการเงินจนหมด
ดังนั้น จะไม่สามารถบันทึกค่าเสื่อมได้ แต่สิ่งที่จะนำมาบันทึกเพื่อขอลดหย่อนภาษีได้ คือ ค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้สถาบันการเงินทุกเดือน ซึ่งรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สิ่งที่ลูกค้าได้ประโยชน์ คือ ค่าเช่าจะสามารถนำมาหักภาษีได้มากกว่า เมื่อผ่อนจ่ายกับสถาบันการเงินจนหมดแล้วถึงจะลงบันทึกค่าเสื่อมได้และมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเกิดขึ้น
ปกติแล้วผู้ประกอบการรายเล็กที่มีขนาดทุนจดทะเบียนไม่สูงนักจะนิยมใช้วิธีการเช่าซื้อ เนื่องจากยังไม่มีภาระด้านภาษีมากนัก และต้องการความเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ ข้อแตกต่าง คือ สินเชื่อลีสซิ่งเมื่อครบสัญญาเงินกู้แล้ว ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นเจ้าของเครื่องจักรชิ้นนั้นไปเลย หรือจะเช่าต่อ หรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ เมื่อผ่อนจ่ายครบผู้ประกอบการจะเป็นเจ้าของโดยทันทีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ สินเชื่อลีสซิ่งยังมีความพิเศษ คือ สิทธิ์ในการขายต่อแล้วเช่าคืน หรือ sale and lease back หมายถึงผู้ประกอบการที่มีเครื่องจักรอยู่กับตัว ซึ่งผ่อนชำระหมดแล้ว ต่อมามีความต้องการทุนหมุนเวียนแต่ไม่สามารนำเครื่องจักรอื่นที่มีอยู่ไปเป็นหลักประกันกู้เพิ่มได้อีก ผู้ประกอบการสามารถนำเครื่องจักรขายให้กับบริษัทลีสซิ่ง หรือสถาบันการเงินอื่น
จากนั้นบริษัทลีสซิ่งจะให้เช่าเครื่องจักรกลับ พร้อมกับเงินสดตามมูลค่าเครื่องจักร เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียนและทยอยผ่อนชำระกับบริษัทลีสซิ่งต่อไป เป็นหลักการที่คล้ายกับสินเชื่อรถมือสอง วิธีการนี้เหมาะสำหรับโรงงานที่ส่วนใหญ่จะนำที่ดินกับตัวโรงงานติดจำนองเงินกู้กับธนาคารหมดแล้วจนไม่เหลือเป็นหลักประกันสำหรับทุนหมุนเวียน ข้อดี คือ นอกจากเสียดอกเบี้ยในอัตราปกติยังสามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ทำให้เกิดประโยชน์ด้วย
สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อลีสซิ่งยังมีจุดเด่น คือ เป็นสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตามอายุสัญญา จึงมีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเครื่องจักรเพื่อการผลิตในระยะยาว รวมถึงต้องการปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามภาวะตลาด
ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 4 ประเภทที่ให้บริการสินเชื่อลีสซิ่งและเช่าซื้อ คือ บริษัทลีสซิ่งในเครือธนาคารพาณิชย์ที่ถือหุ้น100 เปอร์เซ็นต์และถือหุ้นคนละครึ่งในรูปแบบ Joint Venture บริษัทลีสซิ่งต่างประเทศและ Captive Leasing ซึ่งผู้ประกอบการเครื่องจักรเป็นผู้ปล่อยกู้เองโดยตรง ปกติสินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราการเติบโต 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ โอภาส สุภอมรพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และการตลาด บริษัท แฟคตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อลีสซิ่งเหมาะสมสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายกำลังการผลิตโดยการซื้อเครื่องจักรเพิ่ม กรณีที่บริษัทสามารถคืนทุนและมีผลกำไรแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน เนื่องจากเครื่องจักรจะเป็นหลักประกันในตัว อัตราดอกเบี้ยที่คิดก็ใกล้เคียงกับการกู้เงินตามปกติ
ตลอดจนประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่และต้องการที่ดินอาคารและเครื่องจักร ส่วนมากมีการลงทุนหนักในสินทรัพย์ถาวรต้องใช้เงินกู้ระยะยาว แต่ถ้าเป็นเครื่องจักรซึ่งเป็นสินทรัพย์ไม่ถาวรสามารถใช้สินเชื่อลีสซิ่งเป็นทุนหมุนเวียนได้ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อจะเหมาะสมกับ SME รายเล็กมากกว่า เพราะยังมีภาระหนี้ต่ำและจำเป็นต้องมีสิทธิ์การเป็นเจ้าของเครื่องจักรของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้สินเชื่อทั้งสองประเภทควบคู่กันได้
หลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินนอกเหนือจากปัจจัยด้านเครดิตตามปกติแล้ว บริษัทลีสซิ่งยังพิจารณาตัวสินทรัพย์หรือเครื่องจักรด้วย ถ้าเป็นเครื่องจักรที่มีสภาพคล่องในตลาดรองสูง หรือมีการใช้งานทั่วไปในวงกว้าง เช่นรถเครนที่มีแบรนด์ รถโฟล์กลิฟต์ รถขุด รถตัก เครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เครื่องตัด เจีย เจาะ ฯลฯ พวกนี้จะมีการซื้อ-ขายในตลาดรองสม่ำเสมอ บริษัทลีสซิ่งส่วนมากจะอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ยาก แต่ถ้าเป็นเครื่องจักรที่มีลักษณะเฉพาะตัวมากสถาบันการเงินอาจจะไม่พิจารณาสินเชื่อให้ เนื่องจากไม่สามารถนำไปซื้อ-ขายในตลาดรองได้
นอกเหนือจากกลุ่ม SME ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งแล้ว กิจการขนาดใหญ่ก็สามารถใช้บริการได้เช่นกันซึ่งจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น เพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเช่า เช่น ปรับอัตราค่าเช่าให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท หรือการรับค่าเช่าเป็นสกุลเงินอื่น เป็นต้น
ตัน เล เยน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งเครื่องจักรกล่าวว่า สินเชื่อประเภทนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการายเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมถึงมีการบริการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วคล่องตัวกว่า ถ้าเลือกขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่หลากหลายในตลาดทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์
คำแนะนำสำหรับ SME ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่น่าจะพิจารณาสินเชื่อลีสซิ่งและเช่าซื้อควบคู่ไปกับการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว ถ้าไม่มีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ เพราะกิจการที่เริ่มต้นใหม่มักมีกระแสเงินสดที่จำกัด ถ้าใช้วงเงินกู้ระยะยาวเพียงอย่างเดียวจะเป็นการผูกมัดภาระหนี้โดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในธุรกิจ เนื่องจากยุคสมัยนี้มีการแข่งขันสูง สินค้าและการออกแบบอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงควรสร้างความคล่องตัวเรื่องเครื่องจักรในการผลิต โดยไม่ยึดติดกับความเป็นเจ้าของพร้อมจะเปลี่ยนมือเครื่องจักรรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทันที