รู้ก่อน ไม่รอแล้วนะ...ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 2563 ติดลบ หรือ เป็นบวก?




Main Idea

 
  • จากผลกระทบของสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหดตัวลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 3.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3.0 เปอร์เซ็นต์ จากหลายปัจจัยลบ
 
  • ประเด็นข้อพิพาทจีน - สหรัฐฯ ยังครองแชมป์ตัวแปรหลัก ปี 2562 คาดการณ์มูลค่าสูญเสียกว่า 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่ปี 2563 คาดว่ามูลค่าสูญเสียจะเพิ่มอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ




     จากเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลง จากกรณีพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าระหว่างจีน – สหรัฐ หรือสถานการณ์ Brexit ที่คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรคงต้องออกจากสหภาพยุโรป ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยให้ลดต่ำลงทั้งในปีนี้และปีหน้า
 

ส่งออกไทยกระทบ พิษจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว


     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 3.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3.0 เปอร์เซ็นต์จากหลายปัจจัยลบ


     ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าการปรับลดจีดีพีปี 2562 มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยหดตัวในหลายกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาดหลัก ซึ่งส่งผลให้ปรับลดประมาณการการส่งออกเหลือเพียง -2.0 – 0 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมอยู่ที่ 0.0 เปอร์เซ็นต์
               

     โดยตัวเลขจากสินค้าส่งออกไทย 10 อันดับแรก ล้วนมีการติดลบและปรับตัวลดลง สองอันดับแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปปรับลด -15.9 เปอร์เซ็นต์, เคมีภัณฑ์ -14.6 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยแผงวงจรไฟฟ้า 12.6 เปอร์เซ็นต์, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ -11.2 เปอร์เซ็นต์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ -11.0 เปอร์เซ็นต์, เม็ดพลาสติก -10.7 เปอร์เซ็นต์, รถยนต์และส่วนประกอบ -5.8 เปอร์เซ็นต์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 0.1 เปอร์เซ็นต์, มีเพียงบางผลิตภัณฑ์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 45.8 เปอร์เซ็นต์, ผลิตภัณฑ์ยาง 1.1 เปอร์เซ็นต์
               

     ด้านตลาดส่งออกสินค้าหลัก ก็มีการชะลอตัวปรับลดลงเช่นกัน ได้แก่ อาเซียน -10.8 เปอร์เซ็นต์, จีน -6.9 เปอร์เซ็นต์, สหภาพยุโรป -5.5 เปอร์เซ็นต์, CLMV -5.3 เปอร์เซ็นต์, ญี่ปุ่น -1.8 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงตลาดสหรัฐที่เติบโตกว่า 14.9 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ ศูนย์วิจัยกสิกรมองว่าการส่งออกหดตัวมากกว่าที่คาดเอาไว้ โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งตัว
               

     สำหรับสภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยปัจจุบัน พบว่าสถานประกอบการปรับตัวทางธุรกิจ โดยมีการชะลอรับพนักงานใหม่สูงขึ้นจากเมษายน 2562 อยู่ที่ 18.8 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเดือนกรกฏาคมกลับอยู่ที่ 25.4 เปอร์เซ็นต์ และเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เดือนกรกฏาคมอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์
 




จีน – สหรัฐฯ ครองแชมป์ตัวแปรสำคัญ


     ด้าน ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อจะกระทบการส่งออกของไทย โดยในปี 2562 คาดการณ์มูลค่าสูญเสียกว่า  2,100 - 3,000 ล้านดอลลาร์ฯ เพราะเป็นปีแรกที่ได้รับผลพวงจากสงครามการค้าแบบเต็มปี และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจีนได้รับผลกระทบชัดเจน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์


     ในขณะที่ปี 2563 คาดว่ามูลค่าสูญเสียจะเพิ่มอีก 1,000 - 2,500 ล้านดอลลาร์ฯ หลังต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนต่อเนื่อง แม้ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นไปแล้วในปี 2562 แต่ต้องจับตาการเก็บภาษีสินค้าที่เหลือ อาทิ สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก แทบเล็ต ของเล่น เสื้อผ้า รองเท้า ด้วย ซึ่งสินค้าไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตจีน เฉพาะแค่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น


     นอกจากนี้แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่ก็จะเน้นไปที่ธุรกิจที่ไทยเป็นฐานการผลิตเดิม โดยไทยเองถือเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดในอาเซียน จึงไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากได้ โดยค่าเฉลี่ยค่าแรงไทยอยู่ที่ 300 ดอลลาร์ต่อเดือน มาเลเซีย 267 ดอลลาร์ต่อเดือน ในขณะที่เมียนมา ซึ่งมีค่าแรงต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 95 ดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น


     ส่วนสถานการณ์ Brexit คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักร (อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลล์ ไอร์แลนด์เหนือ) คงต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal โดยขั้นตอนต่อไป คือ การตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก
 




จับตาเฝ้าระวังความเสี่ยง


     สำหรับในปี 2563 ที่จะถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จากปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก ทำให้การส่งออกไทยอาจยังคงหดตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้จีดีพีมีโอกาสต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามประมาณการนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขแวดล้อมที่ประเมินได้ ณ ขณะนี้ และยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยในปีนี้คาดว่ามาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จะช่วยหนุนจีดีพีราว 0.02 เปอร์เซ็นต์


     ดร.ศิวัสน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีหน้าต้องรอติดตามว่าจะมีมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากมี ก็ควรเน้นไปที่การดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ อย่างเช่นกลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ประกอบการ SME ที่ยอดขายชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย ในส่วนของมาตรการทางการเงินนั้น มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยได้อีก เพียงแต่มาตรการทางการเงินต้องใช้เวลากว่าจะทยอยเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ

 
     ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเพื่อเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้