พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในการค้าขายระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องรู้ทันโลก ทันข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นโอกาสการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการรู้ทันภัยทางการค้าในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในปัจจุบันการติดต่อระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้ซื้อในต่างประเทศจะกระทำทางออนไลน์เป็นหลัก การพิสูจน์ตัวตนหรือความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อเป็นเรื่องสำคัญที่อาจทำได้ยาก ในขณะที่มิจฉาชีพยังคงหาเทคนิควิธีใหม่ๆ ในการล้วงข้อมูลทางธุรกิจและเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่สื่อสารกันระหว่างคู่ค้า หรือกระทั่งปลอมตัวเป็นคู่ค้า เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และลวงให้เกิดการโอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ ไม่ว่าในรูปแบบของแฮกเกอร์ หรือการให้นามบัตรปลอมที่ปลอมแปลงข้อมูล เพื่อลวงให้ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าไปยังที่อยู่ของมิจฉาชีพ ซึ่งสามารถนำสินค้านั้นไปจำหน่ายต่อได้ ส่วนผู้นำเข้าไทยอาจประสบปัญหาถูกหลอกให้ชำระเงินค่าสินค้าไปยังบัญชีของมิจฉาชีพได้เช่นกัน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่าในการป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกไทยมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ประกันการส่งออก” ซึ่ง EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวของไทยที่ให้บริการประกันการส่งออก โดยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 25 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ประกันการส่งออกของ EXIM BANK ได้ก่อให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกของไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน EXIM BANK ได้พัฒนาบริการประกันการส่งออกหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทย อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นและสะดวกสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการที่ส่งออกไปตลาดประเทศเพื่อนบ้าน
โดย EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเงินให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นหรือส่งออกได้มากขึ้น นอกเหนือจากการให้สินเชื่อ EXIM BANK เชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อหรือธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ส่งออกใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำการค้า กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินและให้เครดิตทางการค้าแก่ผู้ซื้อ จากนั้น ผู้ส่งออกสามารถเลือกรูปแบบทำประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกมีความมั่นใจที่จะค้าขายมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นคู่ค้าใหม่หรือตลาดใหม่ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทน จำนวนทั้งสิ้น 12 ราย เป็นมูลค่า 87.50 ล้านบาท
“ข้อมูลขององค์กรรับประกันต่างชาติระบุว่า 10% ของคำสั่งซื้อที่ผู้ส่งออกให้เครดิตเทอมแก่ผู้ซื้อในการชำระเงินจะประสบปัญหาผู้ซื้อขอผัดผ่อนการชำระเงิน ไม่ชำระเงินค่าสินค้า ปฏิเสธการรับมอบสินค้า หรือผู้ซื้อล้มละลาย นั่นหมายถึงโอกาสที่ผู้ส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศ EXIM BANK จึงพร้อมนำเสนอเครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกไทย ซึ่งนอกจากจะคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า ทำให้ส่งออกได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยติดตามหนี้เมื่อมีปัญหา และใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจาก EXIM BANK หรือธนาคารพาณิชย์ได้อีกด้วย” พิศิษฐ์กล่าว