กสิกรไทยจับมือคุมองปล่อยสินเชื่อแฟรนไชส์การศึกษา




     สุรัตน์  ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญด้านการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น ผู้ปกครองพร้อมสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ทั้งการเรียนภาคปกติในโรงเรียนและการเรียนเสริมจากสถาบันกวดวิชาชั้นนำ ท่ามกลางการแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาที่ในปัจจุบันมีแฟรนไชส์ซอร์มากถึง 98 ราย  มูลค่าตลาด  แฟรนไชส์การศึกษาในปี 2562 ประมาณ 42,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดแฟรนไชส์ของไทย ทำให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนเปิดแฟรนไชส์การศึกษาต้องเลือกแบรนด์ที่มั่นคงและมีอนาคต


     ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับบริษัท คุมอง (ไทยแลนด์) เจ้าของแฟรนไชส์ด้านการศึกษาที่มีสาขามากที่สุดในโลก และเป็นแฟรนไชส์ที่มีสาขามากเป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากแบรนด์แฟรนไชส์ค้าปลีก และร้านอาหารชื่อดัง จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ www.res.cloudinary.com ในการสนับสนุนโซลูชั่นทางการเงินเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ (KBank Franchise Solution) สำหรับผู้ที่สนใจเปิดแฟรนไชส์คุมองหรืออยากปรับปรุงศูนย์ฯ ธนาคารสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสูงสุด 70 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการลงทุน และสามารถเลือกผ่อนชำระสูงสุดได้นานตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ ไม่ต้องกังวลเรื่องหลักประกัน โดยมี บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ค้ำประกันสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมอัตราพิเศษ เมื่ออนุมัติและตั้งวงเงินภายใน 30 กันยายนนี้ 


     ด้านมร.โนโบรุ ทาคาฮิระ ประธานบริษัท คุมอง (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า คุมองเป็นระบบการเรียนจากประเทศญี่ปุ่นที่ถูกคิดค้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว โดดเด่นเรื่องสร้างพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์และภาษาให้แก่นักเรียน มีการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 4 ล้านคน มีจำนวน 25,000 สาขาใน 50 ประเทศ นับเป็นแฟรนไชส์ด้านการศึกษาที่มีสาขามากที่สุดในโลก รวมถึงประเทศไทย ที่คุมองเริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 96,000 คนที่กำลังเรียนอยู่ในศูนย์คุมอง 483 สาขา โดย    คุมองยึดหลักในการ “ค้นหาศักยภาพ” ของนักเรียนเป็นรายบุคคลไปพร้อมๆ กับการพัฒนาหลักสูตร และครูผู้สอนให้ดีขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นคุมองจึงให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนมากที่สุด นั่นจึงทำให้คุมองเป็นแบรนด์แฟรนไชส์การศึกษาที่ยืนหยัดได้แม้การแข่งขันจะร้อนแรง
 

     สำหรับความร่วมมือระหว่างคุมองและธนาคารกสิกรไทยในการเปิดแฟรนไชส์การศึกษาในครั้งนี้เป็นความตั้งใจในการขยายโอกาสธุรกิจไปยังตลาดการศึกษาในประเทศไทยที่ยังคงเติบโตไปได้ด้วยดี โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นพันธมิตรสำคัญช่วยผลักดันเรื่องเงินทุนให้ผู้ที่สนใจ บริษัทคาดว่าในปีนี้จะขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพิ่มอีก 22 สาขา ทำให้มีศูนย์คุมองมากกว่า 500 สาขา ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศไทย 


     ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มของคนไทยที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ง่ายและมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งการเข้ามาของธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศ และความหลากหลายของธุรกิจแฟรนไชส์ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้คนทั่วไปกลายเป็นเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ได้ง่ายขึ้น


     ในประเทศไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์หรือแฟรนไซส์ซอร์ประมาณ 571 ราย สำหรับธุรกิจยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครื่องดื่มและไอศกรีม และธุรกิจการศึกษาในสัดส่วน 24 ปอร์เซ็นต์ 23 เปอร์เซ็นต์ และ 17 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยกลุ่มธุรกิจการศึกษามีอัตราการเติบโตมากถึง 23 เปอร์เซ็นต์ จากการที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลาน ส่งผลให้แฟรนไชส์การศึกษาเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนตราบเท่าที่ผู้ปกครองยังใส่ใจพัฒนาบุตรหลาน และคุณภาพการศึกษาที่ดีจะเป็นการสร้างคุณภาพของประชากรของประเทศ และสร้างโอกาสความก้าวหน้าของอาชีพการงานในอนาคตด้วย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้