ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจการยกระดับมาตรฐานธุรกิจ ช่วยเสริมศักยภาพSMEsได้จริง ทั้งขยายตลาด ยอดขายพุ่ง ลูกค้าเชื่อใจ และเปิดประตูถึงสินเชื่อ ชี้ยังมีผู้ประกอบการฝันเข้าสู่มาตรฐานรับรองต่างๆ แต่ขาดความพร้อม โดยเฉพาะด้านความรู้และเงินทุน ด้าน SME D Bank รับลูกประกาศเติมทักษะคู่เติมทุนดอกเบี้ยต่ำ หนุนสร้างมาตรฐาน
รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจ “การยกระดับมาตรฐานธุรกิจ SMEsไทย” จาก 1,200 ตัวอย่าง ว่า ส่วนใหญ่มีทัศนะให้ความสำคัญของการมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่างๆ โดย 44.31% ธุรกิจ “มี” เครื่องหมายรับรองมาตรฐานแล้ว ซึ่ง 66.17% เป็นมาตรฐานพื้นฐานตามกฎหมายกำหนด และ 64.32% เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานระดับจังหวัด
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 58.42% ระบุว่า เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ไม่มีความจำเป็นต่อธุรกิจเลย เนื่องจากตัวเองเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และไม่ต้องการเพิ่มต้นทุน ส่วน 41.58% ให้เหตุผลว่ามีความเป็นจำเป็น โดยส่วนใหญ่ถึง 58.90% บอกว่าจำเป็นมาก และเมื่อถามว่า การมีเครื่องหมายรับรองมีประโยชน์ต่อธุรกิจมากน้อยเพียงใด โดยเจาะจงเฉพาะกลุ่มที่มีเครื่องหมายมาตรฐานแล้ว กลุ่มตัวอย่างถึง 99.66% บอกว่ามีประโยชน์ เช่น สามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น สินค้าและบริการ รวมถึงองค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาลูกค้า มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ เป็นต้น อีกทั้ง ช่วยให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น ราคาสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น สภาพคล่องของธุรกิจดีขึ้น และจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ส่วนกรณีหากลูกค้าต้องการเครื่องหมายรับรองมาตรฐานที่ธุรกิจตนยังขาดอยู่ กลุ่มตัวอย่าง 23.20% บอกว่า จะดำเนินการทันทีเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ยังขาด เพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับ ส่วน 50.38% ยังไม่แน่ใจ เนื่องจากต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ค่าใช้จ่าย และความพร้อม ขณะเดียวกัน 26.42% จะไม่ดำเนินการใดเลย เพราะไม่พร้อมและไม่อยากเพิ่มต้นทุน
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมถึงกรณีของกิจการที่ยังไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานใดๆ เลย กลุ่มตัวอย่างบอกสาเหตุว่า ขั้นตอนขอ/ต่ออายุยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง กิจการขนาดเล็กไม่จำเป็น คิดว่าขอไปยังไงก็ไม่ได้ และไม่ทราบขั้นตอน เป็นต้น
นอกจากนั้น กลุ่มที่ยังไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานถึง 75.24% ยังระบุว่า ไม่มีความต้องการ โดยสาเหตุ 80.98% บอกว่ากิจการขนาดเล็กไม่มีความจำเป็น ส่วน 24.76% บอกว่า ต้องการจะเครื่องหมายมาตรฐาน เช่น ISO อย. ฮาลาล และมาตรฐานโฮมสเตย์/โรงแรมไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ ความช่วยเหลือที่ต้องการ เพื่อให้ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานนั้น กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ 24.66%ต้องการเงินทุน 20.32%ต้องการองค์ความรู้ 18.10%ต้องการให้ลดค่าใช้จ่ายในการขอ/ต่ออายุ 15.42%ต้องการให้ลดขั้นตอนในการขอ/ต่ออายุ 11.70%ต้องการให้ลดระยะเวลาในการขอ/ต่ออายุ และ 9.8%ต้องการมีระบบแจ้งเตือนก่อนครบกำหนด ด้านปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการขอ/ต่ออายุเครื่องหมายมาตรฐานนั้น 3 อันดันแรก ได้แก่ 1.ขาดความรู้ความเข้าใจ 2.สถานที่ตั้งในการดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามเกณฑ์ และ 3.ขาดเงินทุน
ส่วนใหญ่ 39% เชื่อว่า มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ ขณะที่ 31.85% ภายใน 1 ปีนี้ มีความต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ เช่น พัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน พัฒนาเครื่องจักรให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ก่อสร้างหรือต่อเติมร้านค้า/อาคาร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยวงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 196,012.50 บาท
และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ กลุ่มตัวอย่าง บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่เพิ่มขึ้น 34.10%ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่เพิ่มขึ้น 34% และต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่เพิ่มขึ้น 31.89% ส่วนความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ ได้แก่ ปรับลดดอกเบี้ย26.09% ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้22.82% หลักทรัพย์ค้ำประกัน20.68% ระยะเวลาการอนุมัติ17.84% และขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุง 12.57%
สำหรับสิ่งที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับการขอ/ต่ออายุเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เช่น ลดขั้นตอนดำเนินการให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดหลักฐานหรือเอกสารต่างๆ สนับสนุนหรือลดค่าใช้จ่าย อนุมัติเครื่องหมายมาตรฐานให้มีความครอบคลุม หรือลดประเภทมาตรฐานลงเท่าที่สามารถเป็นไปได้ อบรมและให้ความรู้ และผู้ให้บริการรับรองมาตรฐานมีความเต็มใจให้บริการ ด้านข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว). หรือ SME D Bank ได้แก่ ให้ความรู้พร้อมอำนวยความสะดวกทั้งด้านดำเนินการและเอกสาร ให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย และพนักงานให้บริการอย่างรวดเร็วและสุขภาพ
นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว บ่งบอกได้ดีว่า การมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน สร้างประโยชน์แก่เอสเอ็มอีมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วยยกระดับธุรกิจให้ได้รับความเชื่อถือ ขยายตลาด เพิ่มรายได้ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับมาตรฐานต่างๆ แต่ยังไม่สามารถทำได้ โดยขาดปัจจัยสำคัญ คือ ความรู้ และเงินทุน ดังนั้น ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา จะเข้าไปช่วยยกระดับพาเข้าสู่มาตรฐาน ผ่านกิจกรรมเติมทักษะต่างๆ เช่น อบรม สัมมนา เป็นต้น
จากนั้น รายที่ต้องการเติมทุนเพื่อใช้ในการสร้างมาตรฐาน ธนาคารเตรียมสินเชื่อไว้รองรับ ผ่านโครงการ "สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน" (Local Economy Loan) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีเงินทุน เพื่อปรับปรุงยกระดับธุรกิจเข้าสู่มาตรฐาน โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: FINANCE
หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน
ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้