SME พร้อมยัง! ผู้บริโภค 4 ใน 5 ใช้เงินดิจิทัลกันมากขึ้นแล้วนะ



Main Idea
 
  • จากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการชำระเงินในปัจจุบันที่มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าชาวไทยที่เปลี่ยนไป
 
  • โดยพบว่า 4 ใน 5 หรือประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทย มีการใช้จ่ายเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
 
  • 57 เปอร์เซ็นต์เป็นการทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล อาทิ บัตรเดบิต บัตรเครดิต แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และคิวอาร์โค้ด มีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังนิยมใช้เงินสด


     ถ้าเป็นแต่ก่อนหากใครพูดว่ามีเงินลอยอยู่ในอากาศ ไม่ถูกมองว่าเพี้ยนก็คงว่าบ้ากันไปเลย แต่ในวันนี้จากคำพูดเล่นลอยๆ กลับกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยความก้าวล้ำทันสมัยของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนจากเงินเหรียญ เงินกระดาษให้กลายมาเป็นเงินในอากาศหรือเงินดิจิทัลที่แม้จับต้องสัมผัสไม่ได้ แต่กลับมีมูลค่า ใช้ชำระหนี้สิน ซื้อสินค้าและบริการได้ไม่แตกต่างจากเงินที่จับต้องได้ซึ่งเราคุ้นเคยกันมาอย่างดี

 

   
      วีซ่า หนึ่งในผู้ให้บริการบัตรเครดิตและเงินดิจิทัลระดับโลก ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจการศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 (Visa Consumer Payment Attitudes Survey 2018) จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้นกว่า 4,000 คนจาก 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 500 คนจากประเทศไทย โดยพบว่า 4 ใน 5 หรือ 78 เปอร์เซ็นต์ของคนไทย มีความพยายามในการใช้จ่ายเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวในชีวิตประจำวันสูงเพิ่มขึ้นกว่าปี 2560 ที่มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์
 

     โดย 57 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยนั้นนิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล อาทิ บัตรเดบิต บัตรเครดิต แอปพลิเคชั่นการชำระเงินบนสมาร์ทโฟน และคิวอาร์โค้ด มีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังนิยมใช้เงินสด ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการชำระเงินในปัจจุบันที่มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมไปถึงตัวร้านค้าเองที่มีการรับชำระเงินดิจิทัลมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเพราะความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเองที่ช่วยกันผลักดันระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย



   

      ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่า 2 ใน 5 หรือประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยมีการพกเงินสดน้อยลง มากกว่าผลสำรวจปี 2560 ที่มีเพียง 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคพกเงินสดน้อยลงมาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน คือ 1.ความไม่ปลอดภัยในการพกพาเงินสด 65 เปอร์เซ็นต์ 2.การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลที่มากขึ้น 65 เปอร์เซ็นต์ และ3.ความไม่สะดวกในการใช้เงินสด 39 เปอร์เซ็นต์
 

     นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าสำหรับคนที่พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวนั้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หนึ่งวันโดยไม่ใช้เงินสด และกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเลยได้นานถึงสามวัน



     

     จากข้อมูลที่ได้กล่าวมานั้น จึงอาจสรุปได้ว่าคนไทยจำนวนมากขึ้นมีความมั่นใจในระบบเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาก้าวไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้ไม่ยากนัก โดยผลสำรวจได้ระบุในตอนท้ายว่า คนไทยกว่า 29 เปอร์เซ็นต์ มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ภายใน 3 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีเพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วน 39 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะใช้เวลาสี่ถึงเจ็ดปีเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด มีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี
 

     เมื่อมีแนวโน้มว่าลูกค้าจะใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัลกันมากขึ้น SME ก็ต้องเร่งปรับตัวโดยมีระบบรับชำระเงินผ่านดิจิทัลมารองรับ ไม่เช่นนั้นก็อาจพลาดโอกาสดีๆ ไปเพราะตามไม่ทันโลกยุคดิจิทัล 

 
     ที่มา : Visa Consumer Payment Attitudes Survey 2018
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้