คุณคือคนกลุ่มไหนในเรื่อง “ภาษี”




เรื่อง : อชิระ ประดับกุล
         misterachira@hotmail.com


    ผมมีโอกาสได้สอนและอบรมให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ในคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งต่างก็มารับการอบรมเพียงเพื่อที่จะให้สอบผ่านในวิชานั้นๆ ในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นวิชาทางด้านบัญชี การเงินหรือภาษีอากร เมื่อสอบผ่านแล้วก็แล้วกันไป ไม่มีการนำไปพัฒนาหรือต่อยอดความรู้แต่อย่างใด สุดท้ายก็ลืมไปในที่สุด

    ถาม ว่าผิดไหม? ที่นักศึกษาจะคิดแบบนั้น คือ เรียน...สอบ...ได้รับเกรด...และเก็บวิชานั้นเข้ากรุ!

    ตอบ ไม่ผิดครับเพราะเราๆ ท่านๆ ที่เคยเป็นนักศึกษามาก่อนก็จะทำคล้ายๆ กัน มีเพียงจำนวนน้อยนิดที่อาจนำวิชาที่เห็นว่ามีประโยชน์นั้นไปต่อยอดด้วยการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองเพิ่มเติม

    ในฐานะที่นักศึกษาเหล่านี้กำลังจะจบในคณะบริหารธุรกิจ ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งของนักศึกษากลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่วงจรของธุรกิจเป็นแน่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม อาทิ พนักงานประจำของธุรกิจเอกชน เจ้าของธุรกิจเล็กๆ หรือสืบทอดธุรกิจของครอบครัว
 

    ในแง่ของเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ที่ทำเพียงคนเดียวหรือทำกับครอบครัวหรือพนักงานบริษัทที่ผันตัวเองสู่เจ้าของธุรกิจก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการเข้าใจระบบบัญชีพื้นฐานที่ควรมี ซึ่งผมได้ย้ำมาตลอดว่าค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันและถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่ต้องทำเมื่อมีรายได้จากการประกอบอาชีพของตนเองนั่นก็คือการเสีย “ภาษี”

    ผมจึงได้ย้ำกับนักศึกษาที่มาให้ผมช่วยสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับภาษีอากรเสมอว่า “วิชาที่คุณจะนำไปใช้ได้ทันที ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรก็ตามก็คือ วิชาภาษีอากร ที่ผมกำลังสอนคุณอยู่” 

    ยกตัวอย่างเช่น หากนักศึกษาจบใหม่สักคน ไปทำงานประจำจะฝ่ายใดก็ตามทีได้รับเงินเดือน ทุกๆ เดือน แน่นอนที่สุดว่า สิ้นเดือนแรกเงินได้สุทธิที่ได้รับคงจะไม่เท่ากับฐานเงินเดือนที่ได้ตกลงกับบริษัทไว้เป็นแน่ อันเนื่องมาจากการหักสวัสดิการและเงินต่างๆ รวมทั้ง “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ในแต่ละเดือน

    เห็นไหมครับ เริ่มงานเดือนแรก ก็โดนหักภาษีซะแล้ว!! จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเด็กจบใหม่ไม่รู้เรื่อง หรือลืมไปแล้วว่าตอนเรียน “ภาษีอากร” ในมหาวิทยาลัยนั้น เขาคิดภาษีกันยังไงนะ แล้วทำไมสิ้นเดือนโดนหักเท่านี้...เด็กจบใหม่ วัยทำงานหมาดๆ เขาคิดยังไงลองมาดู?
 

คิดแบบคนกลุ่มที่ 1 “ไม่คิดหรอก คิดทำไม ปวดหัว ทำงานก็ต้องโดนหักภาษีเป็นธรรมดาสิ”

    ถ้าคิดได้แบบนี้ก็แล้วไปครับ เป็นคนประเภท ไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่คัดค้าน และไม่สนใจ...ถ้าถามผม ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนขี้เกียจ” ครับ

คิดแบบคนกลุ่มที่ 2 “เอ๊ะ? ทำไมโดนหักเท่านี้...เออ เธอโดนหักเท่าไหร่ พอๆ กันไหม อ้อพอๆ กันใช่ไหม? อ้อ แล้วไป”

    กลุ่มนี้ยังมีความสนใจอยู่เล็กน้อยในเรื่องของจำนวนตัวเลขที่โดนหักภาษี แต่อาศัยเทียบเคียงกับบุคคลรอบตัวในระดับตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของตัวเลขที่โดนหักภาษี ก็จะไม่สงสัยอะไรต่อ กระทั่งเมื่อมีความแตกต่างจากคนรอบตัวอย่างชัดเจน นั่นละครับถึงจะโวยวายอีกสักรอบ...กลุ่มนี้ต้องจัดว่าเป็น “คนขี้สงสัยแต่ไม่ศึกษา”

คิดแบบคนกลุ่มที่ 3 “ทำไมถึงโดนหักภาษีเท่านี้นะ เป็นเพราะอะไร เขาคิดยังไง?”

    กลุ่มนี้ให้ความสนใจในเรื่องของตัวเลขภาษีที่โดนหักโดยไม่คำนึงว่าจะมากหรือน้อยแต่ขอให้ “สงสัยเอาไว้ก่อน” และทำการสอบถามจากเจ้าหน้าที่ ที่คำนวณภาษีถึงที่มาของจำนวนเงินภาษีที่โดนหักไปดังกล่าว แต่จะไม่กล้าคัดค้านหากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในการคิดคำนวณที่อาจผิดพลาด กลุ่มนี้ถือว่าเป็น “คนขี้สงสัย เข้าใจถามแต่ไม่ตามค้าน”

คิดแบบคนกลุ่มที่ 4 “ทำไมถึงโดนหักแค่นี้นะ เอ? เราลองคำนวณแล้วไม่น่าจะถึงนะ”

    กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าชื่นชมเพราะให้ความสนใจในรายละเอียดต่างๆ นานา เป็นอย่างดีว่า ตัวเลขภาษีที่โดนหักไปนั้น มาจากสาเหตุใดและใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านภาษีที่พอจะมีอยู่นั้น ลองคำนวณ ทบทวนด้วยตนเอง และเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นก็กล้าที่จะโต้แย้ง ขอคำชี้แจงทันทีว่าเกิดจากสาเหตุใด คนกลุ่มนี้ต้องเรียกว่าเป็น “คนใส่ใจ เข้าใจถามและตามค้าน”

    จะว่ากันไปแล้ว 3 กลุ่มแรกมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอยู่คือ “ความเข้าใจในการคิดคำนวณภาษี” ขั้นพื้นฐานนั้น อาจจะไม่มีหรือมีแต่น้อยมาก ทำให้ความใส่ใจในการคิดคำนวณภาษีมีน้อย ขณะที่กลุ่มที่ 4 มีความสนใจและศึกษาวิธีการคิดคำนวณภาษีขั้นพื้นฐานทำให้สามารถกล้าที่จะโต้แย้งหรือค้านเมื่อพบความผิดปกติของตัวเลขในการคำนวณภาษีที่เกิดขึ้น



    ตัวอย่างที่ผมยกมาดังกล่าวเป็นเพียงแค่กรณีที่เด็กจบใหม่ไฟแรง/ผู้ที่ทำงานประจำ ได้รับเงินเดือนและถูกหักภาษีทุกสิ้นเดือนเท่านั้น แต่ทว่าในแง่ของอาชีพอื่นๆ เช่น เจ้าของธุรกิจเล็กๆ อาชีพอิสระ (รับงานเป็นจ๊อบๆ) หรือ ซื้อแฟรนไชส์มาประกอบธุรกิจ ก็มีการคิดคำนวณภาษีที่แตกต่างกันออกไปและไม่ยุ่งยากนัก หากตั้งใจศึกษาอย่างแท้จริง แม้ว่าจะไม่ได้เรียนมาทางด้านบัญชีหรือภาษีก็ตาม

     ที่นำเรื่องดังกล่าวมาบอกต่อให้ได้ทราบกันก็เพราะการคิดคำนวณภาษีจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่คุณได้ติดต่อพบปะด้วย จะในฐานะใดก็ตามแต่ ไม่ว่าคุณจะเป็น ลูกจ้าง (รับเงินเดือน) เจ้าของธุรกิจเล็กๆ (ต้องทำธุรกิจด้วย) หรือรับจ้างเป็นจ๊อบๆ (อาชีพอิสระ) ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงเช่นกัน ที่บุคคลเหล่านั้นอาจมีการคิดคำนวณภาษีผิดพลาดไปจากความเป็นจริง ทำให้ภาษีที่คุณจะต้องโดนหักนั้นมากเกินความจำเป็น และหากคุณไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านภาษีในการคิดคำนวณตามลักษณะการประกอบอาชีพของคุณแล้วล่ะก็ นอกจากคุณจะต้องโดนหักภาษีอย่างไม่ถูกต้องแล้ว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางด้านภาษีก็จะได้รับไม่เต็มที่อย่างที่กฎหมายได้กำหนดไว้

     “การเสียภาษี” เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ประกอบอาชีพ และมี “เงินได้” จากการประกอบอาชีพนั้นๆ ดังนั้นหน้าที่ของคุณนอกจากจะต้องเสียภาษีแล้วก็คือ “การทำความเข้าใจเรื่องของภาษี” ก็ควรมีด้วยควบคู่กันไปและไม่สามารถจะหลีกหนีได้ตราบเท่าที่คุณยังประกอบอาชีพและมีรายได้ เว้นเสียแต่ว่าคุณเลือกที่เป็นบุคคลในกลุ่มที่ 1 อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

     ผมจึงได้พร่ำบอกนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจที่มาอบรมกับผมทุกครั้งว่า วิชาไหนที่ได้เรียน...ได้สอบและได้เกรดแล้วจะเก็บเข้ากรุ อันนี้เรื่องของคุณ อยู่ที่คุณพิจารณา ตามความเหมาะสม แต่สำหรับวิชา “ภาษีอากร” ได้โปรดให้ความสนใจ และทบทวนอยู่สม่ำเสมอ กระทั่งคุณเรียนจบ แม้จะเป็นขั้นพื้นฐานก็ตาม เพราะเมื่อวันใดที่คุณเข้าสู่วัยทำงาน/ประกอบธุรกิจ/ทำมาหาเลี้ยงชีพ วันนั้นจะเป็นวันที่คุณคิดถึงวิชา “ภาษีอากร” ที่คุณได้เรียนผ่านมาแล้วและแม้ว่าบุคคลใดจะไม่ได้จบในคณะ/สาขาที่มีวิชาทางด้านภาษีอากรก็ตามก็ยังควรต้องศึกษาหาความรู้พื้นฐานเช่นกัน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเรียนจบก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อให้ก่อเกิดรายได้และนำไปสู่การเสียภาษีในที่สุด

     ...เลือกดูสิครับว่าคุณจะเป็นคนในกลุ่มใดที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น...?? 

Create by smethailandclub.com

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้