เมื่อการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่คอยขัดขวางการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการจ้างงานเพิ่ม ทาง TMB จึงตั้งเป้าเติมพลังให้ SME ไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยการออกพันธบัตร SME หรือ TMB SME Bond มูลค่า 2,950 ล้านบาท หรือ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) หนึ่งในสมาชิกของเวิล์ดแบงก์กรุ๊ปเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด
ในเรื่องนี้ ชมพูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี ได้กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ SME ไทยก้าวไปไม่ถึงฝันคือ การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนั้นการระดมทุนที่ได้จาก IFC ในการออกพันธบัตรครั้งนี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ SME ไทยได้มากขึ้น
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มี SME เกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถก้าวผ่านปีแรกได้ และเมื่อผ่านปีแรกไปได้ จะมีธุรกิจอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น SME จึงเป็นสิ่งที่เราต้องให้การสนับสนุนและทำให้พวกเขาแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี SME กว่า 3 ล้านราย โดยที่ 83 เปอร์เซ็นต์นั้นเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน อีกทั้ง ถ้าเทียบกับธุรกิจใหญ่ๆ จะพบว่า SME ได้รับการเข้าถึงเงินทุนต่ำว่าธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าตัว ดังนั้น ทาง TMB จึงหวังที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้ก้าวหน้าและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงด้วยการออกพันธบัตร SME ชุดนี้ โดยในส่วนของทางธนาคารเองนั้น เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะทำให้เรามีเงินทุนเพิ่มขึ้นสำหรับให้การสนับสนุน SME เพิ่มโอกาสการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ และสร้างการเข้าถึงและลงไปถึงคนตัวเล็กได้มากขึ้น”
โดยการออกพันธบัตร SME มูลค่า 2,950 ล้านบาท หรือ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ในครั้งนี้ นับเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนการขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SME ไทย ส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เติมพลัง SME ไทยให้โตแบบยั่งยืน
ขณะที่ วิกราม กุมาร์ ผู้จัดการบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศประจำประเทศเมียนมาร์และไทย กล่าวว่า SME ในปัจจุบันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ของธุรกิจในเมืองไทยและมีการจ้างงานคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด
“อย่างไรก็ตาม SME ไทยยังมีช่องว่างด้านเงินทุนโดยรวมกว่า 41 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี นอกจากนี้หากเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคแล้ว ยังพบว่า มี SME ในประเทศไทยเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ ถ้าเทียบกับข้อมูลของ SME ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีถึง 28 เปอร์เซ็นต์และ SME ทั่วโลกที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนั้น พันธบัตร SME ชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่ธุรกิจ SME กำลังเผชิญอยู่ โดยเราเชื่อว่า TMB SME Bond จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการสนับสนุนการเติบโตของ SME ในเมืองไทย และด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีของเราจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ SME ไทยเกิดการพัฒนา ลดปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงการร่วมงานกันในอนาคตระหว่าง IFC และ TMB จะสามารถช่วยพัฒนาโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรม รวมถึงเพิ่มศักยภาพของ SME ไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน”
โดยทาง IFC และ TMB ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2555 ในโครงการฟื้นฟู SME ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และในเวลาต่อมา IFC ก็ได้ให้การสนับสนุน TMB ในการให้สินเชื่อ SME ผ่านโครงการค้ำประกันความเสี่ยง (Risk-sharing Facility) และในปีนี้ IFC ยังได้ลงทุนใน TMB Green Bond มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธบัตรสีเขียวชุดแรกที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทยอีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี