3 พฤติกรรมเจ้าปัญหา ทำ SME บริหารการเงินสะดุด!





 
 
     การวางแผนการเงินและบัญชีเป็นเรื่องที่สำคัญของธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มักเป็นจุดบอดหรือข้อด้อยของ SME ไทยอีกหลายคน ที่ยังไม่รู้หรือเข้าใจต่อการบริหารจัดการที่ถูกต้อง และมักมองว่าเป็นเรื่องยาก อภิวัฒน์ หวังมีชัย CEO บริษัท บนกองเงินกองทอง จำกัด บริษัทบริหารการเงินแบบครบวงจรรูปแบบใหม่ที่ดูแลตั้งแต่การเงิน บัญชี และภาษี ในฐานะที่คลุกคลีดูแลผู้ประกอบการ SME หลากหลายธุรกิจมานานกว่า 5 ปี ได้กล่าวถึง 3 พฤติกรรมที่เป็นปัญหาสุดคลาสสิกทำให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย ไม่สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างราบรื่นไว้ดังนี้
 
 
ไม่วางแผนธุรกิจตั้งแต่ต้น
 
 
     สิ่งที่ผมและทีมงานได้สัมผัสในการทำงานกับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME มาระยะหนึ่ง พบว่าพฤติกรรมแรกที่มักเป็นกันมาก คือ ไม่มีการวางแผนธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น คือ ดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่ขาดการคาดคะเนและพยากรณ์ผลประกอบการไว้ล่วงหน้า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้เห็นถึงสภาพของธุรกิจที่แท้จริง และคาดเดาสถานการณ์ได้ล่วงหน้าแล้วว่าควรดำเนินการต่อไปในทิศทางใด ยังช่วยในเรื่องของการวางแผนภาษีได้ด้วย ซึ่งหากเรารู้ล่วงหน้าว่าในปีหนึ่งๆ นั้นน่าจะได้กำไรสักเท่าไหร่ เราก็สามารถวางแผนการเสียภาษีได้ เพื่อเตรียมเก็บเอกสารค่าใช้จ่ายที่ถูกต้อง และนำไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้การมีแผนธุรกิจล่วงหน้ายังทำให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ และความช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ของทางภาครัฐได้ง่ายขึ้นด้วย
 
 
     โดยวิธีการเริ่มต้นไม่ยากเลย เพียงเริ่มจากการทำรายรับ – รายจ่ายในแต่ละเดือนให้ถูกต้องก่อน จากนั้นลองมาคำนวณเป็นปีว่าจากรายรับและรายจ่ายที่เข้ามาหักลบแล้วเหลือกำไรประมาณเท่าไหร่ เมื่อได้ข้อมูลปัจจุบันที่เป็นพื้นฐานแล้ว เราก็นำข้อมูลนี้แหละมาคาดการณ์ว่าปีหน้าแผนการเติบโตน่าจะเป็นเท่าไหร่ ปีต่อๆ ไปเท่าไหร่ เราก็จะได้แผนล่วงหน้าของธุรกิจแล้ว
 




เก็บค่าใช้จ่ายไม่ครบ
 
 
     ปัญหาที่สองที่พบมาก คือ ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายให้ครบ ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เป็นเอกสารถูกต้อง สามารถนำไปทำการลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการมีตรงนี้ก็ไม่ต้องกลัวที่จะเสียภาษีแพงเลย แถมยังสามารถทำบัญชีเดียวได้ตามที่รัฐบาลรณรงค์ด้วย เพราะบวกลบคูณหารออกมาแล้วว่าในปีหนึ่งๆ เราสามารถทำกำไรได้เยอะ แต่หากเรามีการเก็บค่าใช้จ่ายที่ถูกต้อง ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มากเช่นกัน จึงนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งสำคัญที่ SME ต้องศึกษาในการทำเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อให้ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการดำเนินกิจการสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยส่วนใหญ่เจ้าของกิจการมักคิดว่าทำธุรกิจถ้าอยากได้กำไรเยอะๆ ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายลง แต่สำหรับนักวางแผนภาษีจะคิดหาวิธีทำยังไงให้เพิ่มค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปหักลบกับกำไรที่ได้ เมื่อเหลือกำไรน้อยลง ภาษีก็จะถูกลง อย่างในบริษัทของเราเองเข้าร่วมโครงการทำบัญชีชุดเดียวกับรัฐบาลเช่นกัน และมีการจัดเก็บเอกสารอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เราได้เงินคืนทุกปี อยากบอกให้รู้ว่ามันสามารถทำได้จริงๆ
 



 
บริหารกระแสเงินสดไม่ดี
 
 
     เรื่องสุดท้ายที่มักเป็นปัญหาของผู้ประกอบการ SME คือ กระแสเงินสด เจ้าของกิจการหลายคนมักดำเนินธุรกิจ โดยที่ไม่ได้บริหารจัดการกระแสเงินสดให้ดี บางครั้งคิดว่าทำธุรกิจได้กำไรแน่นอน แต่กลับเป็นเพียงตัวเลขลอยๆ ที่เกิดขึ้น เพราะให้เครดิตกับลูกค้า แต่ยังไม่มีเงินเข้ามาจริง ซึ่งหากสายป่านไม่ยาวพอไม่มีเงินทุนหมุนเวียนที่มากพอ ไม่สามารถนำมาจัดสรรให้ลงตัวได้ระหว่างรายรับที่เข้ามากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หรืออาจมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเข้ามาทำให้ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ธุรกิจต้องเกิดสะดุดได้
               
 
     วิธีการเบื้องต้นง่ายๆ เลยก็หันกลับมาที่การทำบัญชีอีก SME ต้องใส่ใจดูแลบัญชีอย่างใกล้ชิด ต้องบาลานซ์ระหว่างรายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงได้ มีเงินสดอยู่ในมือพอดี ไม่น้อยจนขัดสน ไม่มากจนเสียโอกาสการลงทุน ซึ่งจริงๆ แล้วควรพยากรณ์เผื่อไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อบริหารจัดการได้อย่างครอบคลุม



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้