กสิกรไทย ปักธงลูกค้า ONLINE SELLER จัดตัวช่วยแบบครบวงจร

 




  
     ด้วยมูลค่าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ (ONLINE SELLER) นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนับเป็นเรื่องยากที่จะแยกได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ค้าออนไลน์ที่ว่านี้มีจำนวนเท่าใด เพราะแฝงตัวอยู่ทั้งในกลุ่มนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของธนาคารกสิกรไทย เล็งเห็นถึงศักยภาพและการเติบโตของลูกค้ากลุ่มนี้ จึงเร่งพัฒนาตัวช่วยในการจัดการธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้ค้าออนไลน์สามารถขยายธุรกิจและบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน
               

     จากการเปิดเผยของ พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซในปี 2560 มีทั้งสิ้น 2,812,592 ล้านบาท เป็นการขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค (B2C=Business-to-Consumer) มูลค่า 812,613 ล้านบาท และในปี 2561 คาดการณ์เติบโต 17% มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 949,122 ล้านบาท (ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA))
               

     ขณะที่สัดส่วนมูลค่าซื้อขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียสูงสุดถึง 40%  ซื้อขายผ่านบริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-มาร์เก็ตเพลส 35% และซื้อขายผ่านออนไลน์ของโมเดิร์นเทรด หรือ Brand.com 25% โดยในส่วนของการชำระเงิน ช่องทางการโอนเงินผ่านธนาคารได้รับความนิยมสูงสุด มีสัดส่วนถึง 65%  และชำระด้วยบัตรเครดิตอยู่ที่ 35%  ซึ่งบัญชีของธนาคารกสิกรไทยเป็นอันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือกใช้ในการโอนเงินชำระค่าสินค้า
               

    ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าที่คาดว่าทำธุรกิจออนไลน์ทั้งสิ้น 300,000 ราย แต่บางรายยังประสบปัญหาในการทำธุรกิจหลายด้าน ทั้งการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เจ้าของธุรกิจไม่มีความรู้ในการทำการตลาดออนไลน์  มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ  ขาดเงินทุนหมุนเวียน  ติดต่อลูกค้าที่มาจากหลายช่องทางไม่ทัน  รวมถึงต้องการเพิ่มช่องทางการขายในการขยายตลาด นอกจากนี้ ผู้ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจออนไลน์หรือมีความสนใจจะเริ่มทำก็ต้องการองค์ความรู้เพิ่มว่าทำอย่างไรให้สินค้าขายได้หรือจะขายสินค้าชนิดใดดี


    ธนาคารกสิกรไทย เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงส่งกลยุทธ์ขั้นกว่าในการดูแลลูกค้ากลุ่มออนไลน์ให้ครอบคลุมในทุกด้านเพื่อช่วยลูกค้าในการทำตลาดออนไลน์ ด้วย 5 ตัวช่วยจัดการธุรกิจแบบครบวงจร ได้แก่


     1. รับจ่ายเงินง่าย โซลูชันที่จะช่วยให้การขายออนไลน์ง่ายขึ้น ได้แก่ K PLUS SHOP แอปพลิเคชันสำหรับร้านค้ายุคใหม่ที่รับเงินง่าย ร้านไหนก็ชอบ มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ช่วยด้านบริหารจัดการ เช่น เปรียบเทียบราคา ติดตามสถานะและชำระค่าขนส่ง รายงานยอดขาย ในส่วนของการขายออนไลน์ก็จบง่ายด้วย บิลแมวเขียว QR ส่งเรียกเก็บเงินผ่านทางโซเชียล มีเดียและบริการ Pay with K+ บริการชำระเงินที่ช่วยให้การปิดการขายบน Facebook ง่ายขึ้น


     2. เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ ด้วยบริการสินเชื่อเอสเอ็มอี บน K PLUS ส่งตรงถึงลูกค้า ไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องยื่นเอกสาร 1 นาทีสามารถรับเงินด้วยวงเงินสูงสุดถึง 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบริการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น สำหรับธุรกิจออนไลน์โดยเฉพาะที่ตั้งเป้าสินเชื่อไว้ 2,000 ล้านบาท


     3.เพิ่มช่องการขาย ผ่าน K PLUS Market ที่มีฐานลูกค้ากว่า 9.4 ล้านราย และช่วยพัฒนาทักษะการขายบน e–Marketplace Platform เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขาย และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว


     4. เปิด K ONLINESHOP SPACE หรือ KOS ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการทำตลาดออนไลน์และการจัดการธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในวงการที่พร้อมให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นที่พบปะเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สำหรับลูกค้าที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันได้อีกด้วย


     5. พัฒนา K DIGIBIZ แหล่งรวบรวมตัวช่วยด้านการจัดการธุรกิจให้ดีขึ้นด้วยเครื่องมือจัดการการขาย เก็บ แพ็ค ส่ง ขนส่งสินค้า รับจ่ายเงินและจัดการบัญชี เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ค้าออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
        

     อย่างไรก็ดี พัชร กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารยังร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อาทิ LINE@ Grab Shippop POS Vision Sellsuki Zort ITOPPLUS  Flow Account PEAK JUBILI และพันธมิตรอีกมากมาย  เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้สนใจทำธุรกิจออนไลน์ และผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์อยู่แล้วให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างธุรกิจให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้