จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ SME Development Bank ในหัวข้อ ‘การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ไทย’ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงผลการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 รายพบว่าในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ SME ไทยโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ใช่นิติบุคคลมีความต้องการที่จะเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีโอกาสเข้าถึงได้น้อย เนื่องจากขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และยังขาดการทำบัญชีมาตรฐาน จึงทำให้ไม่สามารถยื่นเรื่องขอกู้กับแบงก์ได้ ยิ่งในเดือนมกราคม 2562 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่จะถึงนี้ที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้มาตรฐานบัญชีเดียว จึงจะสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ ยิ่งส่งผลให้ SME รายเล็กๆ เหล่านี้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเข้าไปช่วยสนับสนุนกิจการ ฉะนั้นแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่า การมีบัญชีที่ถูกต้องตามระบบจะช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้สะดวก และมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายมากยิ่งขึ้นไปด้วย
โดยในข้อนี้ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ SME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ไว้ว่า
“การที่ SME จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากหรือน้อยนั้นมีปัจจัยสำคัญ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การเข้าถึงสินเชื่อของ SME ทั่วไปพบว่าปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คือ 1.ขาดหลักทรัพย์และบุคคลค้ำประกัน 2.ประวัติการเงินไม่ดี ไม่มีงบบัญชีที่ชัดเจน ไม่มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอที่แบงก์จะมั่นใจได้ ส่วนเรื่องที่สอง คือ ทัศนคติความเชื่อของผู้ประกอบการ SME เองที่คิดว่ายื่นกู้ไปยังไงก็คงไม่ได้ ก็เลยไม่เข้ามาขอ นี่คือ ปัญหาปัจจุบัน
แต่ปัญหาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป คือ เป็นเรื่องของมาตรฐานบัญชีเดียวที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยผ่านการรองรับจากผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งถ้าไม่มีจะทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก คือ ได้วงเงินไม่เต็มหรืออาจจะไม่ได้เลย ดังนั้น SME จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เพราะไม่เช่นนั้น SME เองอาจต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการวิ่งไปหาสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่แพง ย่อมไม่ส่งผลดีแน่ๆ ยิ่งในปี 2563 ที่จะมีมาตรการ IFRS 9 เข้ามา ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสถาบันการเงินว่า หากปล่อยสินเชื่อออกไปแล้วจะต้องมีการตั้งสำรองเงินทุนไว้ให้กับสินเชื่อที่ปล่อยออกไปด้วย จะยิ่งทำให้ SME มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแบงก์คงไม่เลือกปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ไม่มีหลักประกันใดๆ เพราะจะเป็นการทำให้แบงก์ต้องเสียเงินเกือบสองเท่า โดยอยู่บนความเสี่ยงที่ไม่น่าเชื่อถือ”
โดยดร.ธนวรรธน์ได้กล่าวว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 รายที่ได้ทำการสำรวจ แบ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา 45.66 % นิติบุคคล 14.53 % อื่นๆ 20.31 % และธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียน 19.49 % พบว่าในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ มีความต้องการขอสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เหตุผลในการกู้ขอสินเชื่อ อันดับแรกได้แก่ เสริมสภาพคล่องธุรกิจ รองมา คือ ขยายกิจการ และชำระหนี้เก่า โดยหากแยกขนาดแล้ว ขนาดกลางมีความต้องการในการกู้เพื่อขยายกิจการมาเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ขนาดเล็กต้องการกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องมากกว่า โดยหากต้องการสินเชื่อ มักนิยมไปยื่นกู้กับธนาคารพาณิชย์มากกว่าธนาคารของรัฐ แต่หากเกิดความยุ่งยาก ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ก็จะไปพึ่งการกู้นอกระบบ
โดยพบว่าจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวนั้น มีบุคคลที่ไม่เคยยื่นกู้กว่า 75.39 % เนื่องจากส่วนใหญ่คิดว่ายังไงก็คงไม่ได้อยู่แล้ว มีเพียง 24.61 % เท่านั้นที่เคยขอยื่นกู้กับแบงก์ ซึ่งพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้สถาบันการเงินในระบบไม่อนุมัติสินเชื่อให้นั้นเกิดจากการขาดหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ประวัติการชำระเงินไม่ดี และไม่มีการทำบัญชีที่เป็นระบบถูกต้อง อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กลุ่มตัวอย่างไม่สามารถเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการปล่อยสินเชื่อได้ เป็นเพราะ1.ไม่รู้เงื่อนไข 2.คิดว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่น่าจะผ่าน 3.ไม่มีความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชี 4.ไม่มีหลักทรัพย์- ไม่มีคนค้ำประกัน 5.ไม่ทราบว่าจะติดต่อที่ใด 6.ไม่มีความรู้ในการทำบัญชี
ส่วนมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ SME ต้องการได้รับ คือ 1.ลดขั้นตอนการทำเอกสารที่มีจำนวนค่อนข้างมาก 2.อนุมัติให้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น 3.ลดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ 4.มีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย 5.ลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้
ในส่วนของการทำบัญชีเดียว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหลักอย่างหนึ่งที่จะทำให้ SME สามารถยื่นกู้สินเชื่อได้นั้น และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ที่จะถึงนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า SME ขนาดเล็กไม่มีการทำบัญชีเลย 10.95 % ในขณะที่ SME ที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ได้ทำบัญชีถึง 12.10 % สาเหตุเนื่องจาก 1.ลืม 2.ไม่มีเวลาทำบัญชี 3.มองว่าไม่ได้เอาไปใช้อะไร 4.เสียเวลาจัดทำ 5.ไม่รู้ว่าต้องทำบัญชีอย่างไร 6.เอกสารไม่ครบถ้วน โดยมาตรการและความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ SME ต้องการ คือ 1.การให้ความรู้/สอนทำบัญชีเดียว 2.ลดขั้นตอนการทำบัญชีให้สะดวกมากขึ้น 3.บริการจัดทำบัญชีเดียวให้โดยไม่ต้องจ้างเอกชน
“สิ่งแรกผมว่า SME ควรจะต้องเข้าใจว่าบัญชีเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า แม้บัญชีจะเป็นต้นทุน หรือความยุ่งยากมากขึ้นสำหรับธุรกิจเล็กๆ แต่ว่ามันจะทำให้เรารู้สภาพตัวเองเหมือนกับการไปตรวจร่างกายประจำ ซึ่งการตรวจร่างกายมี 2 ระบบ ก็คือ การตรวจร่างกายเองว่าตัวเองเป็นหวัดหรือเป็นไข้ตรงไหน ซึ่งการตรวจร่างกายใช้ความรู้สึกไม่ได้ บางทีเราอาจจะต้องมีเครื่องวัดหัวใจ ความดัน แต่ก็ตีความแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง อีกอันหนึ่งการที่เรามีมาตฐานการบัญชี ก็เปรียบเสมือนว่าคนอื่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น แบงก์ต่างๆ เขาเห็นอุณหภูมิในร่างกายของเรา และเขาก็เหมือนหมอที่จะแนะนำให้เราปรับตัว ดังนั้นการบันทึกบัญชีก็เหมือนกับเป็นการตรวจวัดสุขภาพประจำปี ประจำเดือน ทำให้รู้ว่าเราแข็งแรงไหม มีจุดที่ต้องแก้ไขตรงไหน ดังนั้นถ้าคนที่จะทำธุรกิจและคาดหวังความก้าวหน้าและอยากส่งมอบธุรกิจให้กับลูกหลานควรจะทำบัญชี เพื่อตรวจสอบความเป็นไปในการทำธุรกิจตัวเอง และเพื่อสร้างความเข้มแข็งในอนาคต คือ สามารถเข้าไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ และทำให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน”ดร.ธนวรรธน์กล่าว
ด้านมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า
“ตามที่รัฐบาลจะประกาศบังคับใช้มาตรการบัญชีเดียวสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขอสินเชื่อในต้นปีหน้า จากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและธพว.ที่ทำร่วมกันแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามี SME เกือบครึ่งหนึ่งที่ยังไม่พร้อม จากความคิดเห็นผมมองว่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่เหลือนี้ SME ไม่น่าจะเตรียมตัวได้ทัน ผมมองว่าในส่วนทั้งของภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงินเอง อาจมีความจำเป็นต้องผ่อนปรนในเรื่องนี้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อนสำหรับกลุ่มรายเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนให้มีโอกาสได้เข้าถึงเงินทุน เพื่อสำรองทั้งการขยายกิจการและใช้หมุนเวียนในธุรกิจ และขอให้เขาแสดงเจตจำนงในการที่จะทำบัญชีที่มีมาตรฐาน และใช้ระยะเวลา 1 ปีต่อจากนั้นเพื่อทำบัญชีให้เป็นมาตรฐาน วิธีการนี้จะทำให้รอะบบไม่ช็อค และ SME จะได้สินเชื่ออย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้อาจต้องมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อช่วยส่งเสริมในการจัดทำบัญชีให้กับ SME ตั้งแต่ฝึกสอน ทำเวิร์กช้อป ไปจนถึงจัดทำบัญชีของธุรกิจขึ้นมาได้โดยไม่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่มากเกินไป โดยต้องหารือร่วมกันต่อไป ซึ่งจากผลวิจัยร่วมกันครั้งนี้เราพบว่ากว่าร้อยละ 63.09 ผู้ประกอบการ SME มีความประสงค์และยินดีพร้อมที่จะจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องเป็นระบบ หากการทำดังกล่าวมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น”
ในส่วนของ ธพว.ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินช่วยเหลือ SME เราก็มีการปรับเปลี่ยนวีการทำงาน เพื่อให้ผุ้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยหันมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการคิดค้นเครื่องมือขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ SME ได้มากขึ้น แพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า SME D Bank แอปพลิเคชันบริการครบวงจรเพื่อ SME ไทย ที่ผู้ประกอบการสามารถโหลดแอปและทำการยื่นขอสินเชื่อได้ตลอดเวลา จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาภายใน 3 วัน จากนั้นจะทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ ‘รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น’ เพื่อเข้าไปตรวจเช็คสภาพธุรกิจจริงของธุรกิจ ทำให้สามารถพิจาราณาสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และรู้ผลได้ใน 7 วัน”กรรมการผู้จัดการธพว.กล่าว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี