เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างสมบูรณ์และถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งทำลายข้อจำกัดทางธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของธุรกิจ SME ที่จะแจ้งเกิดและต่อกรกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ได้ ด้านสถาบันการเงินอย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จึงไม่รอช้าที่จะงัดเอาตัวช่วยเด็ดๆ อย่าง “SME D Bank” แพลตฟอร์มน้องใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงความรู้และแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่รายละเอียดจะเป็นแบบไหนและจะเสริมแกร่งให้กับคนทำธุรกิจได้อย่างไรมาฟัง มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการของธวพ. หรือ SME Development Bank พูดถึงเรื่องนี้กัน
ที่มาของโปรเจกต์นี้คืออะไร
มงคล: ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการคนตัวเล็กหรือ SME ที่อยู่นอกระบบประมาณ 2.7 ล้านราย จากตัวเลขผู้ประกอบการที่มีทั้งหมดประมาณ 5.2 ล้านราย ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการหลายๆอย่างและขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินในระบบ อีกทั้งปัจจุบันเป็นยุคดิจิตอลเราจึงต้องเสริมศักยภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ปลายนิ้วเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ด้วยแอปพลิเคชันอย่าง SME D Bank แพลตฟอร์มของการเป็นศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อ SME ไทยให้เข้าถึงทั้งองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนได้ทุกที่ทุกเวลาเพื่อให้คนตัวเล็กนั้นอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการได้อย่างเป็นวงกว้าง ทางธนาคารเข้าไปจับมือกับใครบ้าง
มงคล: ธพว. ได้ลงนามความร่วมมือกับ 5 บริษัทผู้ให้บริการธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศหรือ Big Player ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL ผู้ให้บริการข้อมูลนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ SME ที่เป็นลูกค้าของเครือข่ายดังกล่าวที่มีอยู่กว่า 90 ล้านเลขหมายทั่วประเทศเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งด้านความรู้และแหล่งเงินทุนของทางธนาคารผ่านทาง SME D Bank ได้
แล้วแพลตฟอร์มนี้จะช่วยผู้ประกอบการ SME ได้ยังไงบ้าง
มงคล: สำหรับการขอสินเชื่อผ่าน SME D Bank นั้นจะทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” เมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ข้อมูลจะส่งมายังฐานข้อมูลทันที และภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนวิ่งเข้าไปพบและพิจารณาสินเชื่อโดยผู้ประกอบการสามารถรู้ผลได้ใน 7 วัน ช่วยขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ นอกจากนี้การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจเยี่ยมกิจการ ณ สถานประกอบการจริงจะทำให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริงที่สามารถประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และนับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา กองทัพรถม้าเติมทุนลงพื้นที่แล้วกว่า 600 คันและจะเพิ่มเป็น 1,000 คันครอบคลุมทุกอำเภอของประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้
ดังนั้นเรื่องของความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงลูกค้าและลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงเป็นองค์ประกอบหลักที่ต้องมี
มงคล: แน่นอน ภายใต้ยุทธศาสตร์การให้บริการลูกค้าด้วยระบบดิจิตอลถือเป็นโฉมใหม่ของการทำงานของ SME Development Bank โดยจะให้บริการอย่าง 24×7 หมายถึง เปิดทำการ 24 ชั่วโมง 7 วัน ควบคู่กับพนักงานธนาคารทำงานด้วยรหัส 8-8-7 หมายถึง หน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุนฯ จะทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มตลอด 7 วัน เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ภายในแพลตฟอร์ม SME D Bank ยังมีอะไรอีกบ้าง
มงคล: อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) ที่จะเข้ามาช่วยให้ SME เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นการรวบรวมแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่างๆมาอยู่ในที่เดียวกันจากเดิมที่มีอยู่ 50 ราย ล่าสุดเราได้ทำการจับมือกับผู้ประกอบการดิจิตอลรุ่นใหม่เพิ่มอีก 90 ราย รวมเป็น 140 ราย ดังนั้นแค่โหลด SME D Bank เพียงแอปเดียวก็จะสามารถเข้าถึงบริการเสริมแกร่งได้มากกว่า 140 ประโยชน์ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่า 1,000 ประโยชน์
แล้วสำหรับด้านองค์ความรู้ แพลตฟอร์มนี้จะสร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยังไง
มงคล: นอกจากนี้เรายังรวบรวมคลังข้อมูลความรู้สำหรับ SME หรือ e-Library ไว้ในที่เดียวมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร ข้อมูลสถิติ บทความ คลิปวิดีโอและ Infographic โดยเบื้องต้นมีมากกว่า 2,000 องค์ความรู้ โดยเราจะเพิ่มให้มีมากขึ้นกว่า 10,000 องค์ความรู้ภายในสิ้นปีนี้เพื่อช่วยอัพเดทให้ผู้ประกอบการก้าวทันเทคโนโลยี มีการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ (Privilege) ให้เมื่อลูกค้ามีการใช้งานผ่านทางเมนูต่างๆหรือจะได้รับคะแนนของกิจกรรมเพื่อแลกรับสิทธิพิเศษต่างๆอีกด้วย
และเพื่อจะยกระดับ SME ไทยให้ก้าวไกลมากขึ้น โครงการนี้ยังมองไปถึงการใช้ตัวช่วยอื่นๆ อีกหรือไม่
มงคล: เราจะมีการเพิ่มเติมอีก 4 บริการหลักภายในแพลตฟอร์ม SME D Bank ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อมอบประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่
1. ระบบจองอบรมสัมมนา (Seminar Booking) เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการการเข้าร่วมกิจกรรมของธนาคารให้กับกลุ่มลูกค้าอย่างรวดเร็วและตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า
2. ระบบที่ปรึกษา (Consulting) เพื่อเพิ่มตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจแก่ SME ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมโดยจะทำการเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญ 1,000 ราย ซึ่งจะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ธุรกิจของผู้ประกอบการนั้นสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและตอบคำถามไขข้อข้องใจให้ได้อย่างรวดเร็วแทนที่ผู้ประกอบการจะทำงานเพียงลำพัง
3. ระบบเชิญ (Invite Friends) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็วและตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยจัดแบ่งตามประเภทธุรกิจ โดยกลุ่มเป้าหมายต่างๆนั้นสามารถเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ผ่านสมาคม สมาพันธ์และชมรมทั้งในระดับจังหวัดหรือระดับอาชีพต่างๆ
4. ระบบเครือข่าย (SMEs Networking) ระบบสนทนาที่รองรับเสียงและภาพเพื่อสร้างสังคมเครือข่ายผู้ประกอบการด้วยการจัดแบ่งตามกลุ่มประเภทธุรกิจ เพื่อธนาคารจะได้นำเสนอข่าวสาร กิจกรรม บริการ สินค้า รวมถึงความต้องการในการพัฒนาพร้อมทั้งเครื่องมือได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างสะดวกและง่ายต่อการรับบริการของธนาคารมากที่สุดพร้อมรับสิทธิพิเศษ รวมถึงเป็นอีกช่องทางเพื่อการซื้อขายระหว่างกลุ่มธุรกิจ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคารและในหมู่ผู้ประกอบการด้วยกันเอง
ทางธนาคารคาดหวังกับโปรเจกต์นี้ยังไงบ้าง
มงคล: SME D Bank จะเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการตัวเล็กเข้าถึงโอกาสทางความรู้และแหล่งเงินทุนโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเรื่องของเวลาและสถานที่ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมียอดดาวน์โหลดใช้งานกว่า 100,000 รายและมีการยื่นขอสินเชื่อถึง 20,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาที่เริ่มใช้ระบบทั้งบน Android และ iOS นั้นมีผู้ประกอบการเข้ามาดาวน์โหลดแล้วถึง 15,000 ราย และมีการขอสินเชื่อผ่านระบบกว่า 1,000 คำขอ คิดเป็นวงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือแพลตฟอร์มนี้สามารถตอบโจทย์ได้จริงเมื่อมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งทำการยื่นขอสินเชื่อในช่วงตี 2 – ตี 4 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือเวลาใดก็สามารถใช้ SME D Bank ได้เสมอ
สุดท้าย ตัวช่วยนี้จะเข้ามาพลิกโฉมการให้บริการของทางธนาคารยังไง
มงคล: หลังจากนี้กระบวนการการขอสินเชื่อของทางธนาคารจะทำผ่านทางแพลตฟอร์มนี้อย่างเดียว เพราะว่าง่ายและสะดวกเพียงแค่ใช้เบอร์โทรและที่อยู่ โดยข้อมูลทุกอย่างจะถูกบันทึกเข้าระบบซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก และด้วยการที่ต้องทำการลงทะเบียนจะช่วยให้เรารู้ว่าพฤติกรรมของลูกค้านั้นเป็นอย่างไร ยื่นขอสินเชื่อเมื่อไร เจ้าหน้าที่ทางธนาคารมีกระบวนการทำงานและการพิจารณาอนุมัติยังไง ลูกค้ามีการเข้าดูองค์ความรู้ต่างๆวันไหนหรือขอเข้าร่วมการสัมมนาเมื่อไร เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการสร้าง Networking การสนทนาระหว่างลูกค้ากับทางธนาคารในรูปแบบที่สะดวกมากขึ้น ต่อไปการแจ้งใบเสร็จรับเงิน การทวงถามและการขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็จะผ่านตรงนี้ได้ทั้งหมด ซึ่งตัวแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยให้การทำธุรกรรมครอบคลุมและเข้าถึงผู้ประกอบการได้มากขึ้น ช่วยให้พวกเขากล้ามากขึ้นเพราะเห็นว่าครั้งแรกในการขอสินเชื่อนั้นไม่จำเป็นต้องเดินมาที่ธนาคาร เพราะมีรถม้าเติมทุนฯ ที่ให้บริการได้ถึงที่นั่นเอง
นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์เด็ดที่ทางธนาคารนำมาใช้ในการเข้ามาช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SME ไทยในยุคปัจจุบันผ่านทางการใช้แอปพลิเคชัน ตัวช่วยที่เรียกได้ว่าจำเป็นต้องมีในยุคที่ผู้บริโภคแสวงหาความสะดวกและการบริการที่ต้องเสิร์ฟให้ได้ถึงที่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี