​รัฐผนึกแบงก์ เปิดมิติใหม่เสริมแกร่ง SME ยุคดิจิตอล





 

     เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น เมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SME ไทย ให้เติบโตและแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนผ่านทางการเข้าถึงองค์ความรู้ สร้างโอกาสทางการตลาดบนดิจิตอลแพลตฟอร์ม การใช้ฐานข้อมูลจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ทั้งเครือข่ายในและต่างประเทศ รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ


     ในเรื่องนี้ ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นมิติใหม่ของวิสาหกิจชุมชน SME รวมถึงสตาร์ทอัพ ในการขยายช่องทางการตลาดและสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางขึ้นด้วยดิจิตอลแพลตฟอร์มของธนาคารและศักยภาพอื่นๆ ของธนาคารที่จะก่อให้เกิดการต่อยอดของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิตอลได้ดียิ่งขึ้น


     “การจับมือร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์เป็นอีกก้าวของการผสมผสานเรื่องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การบริการที่ทางธนาคารมีอย่างครบทุกแพลตฟอร์มนั้นสามารถจะเข้ามาช่วยดูแลผู้ประกอบการ SME ได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน เทคโนโลยีหรือทางด้านการตลาด ส่วนทางเราจะดูแลในเรื่องการบริหารจัดการในภาพใหญ่และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้เป็นแนวทางที่จะทำงานร่วมกัน”


     ด้าน กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกอบกิจการต่างๆของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอลและอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ตอบรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า (Value-Based Economy) ที่อาศัยพลังการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีและนวัตกรรม


     “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีบทบาทในการพัฒนา SME เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในทุกระดับจนสู่ระดับสากลด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้มีองค์ความรู้ ทักษะความสามารถและศักยภาพในการบริหารจัดการองค์กร การดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ รวมทั้งยกระดับความสามารถการแข่งขันสู่สากลเพื่อก้าวสู่ Global Value Chain โดยการจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมช่วยเหลือ SME และวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการบูรณาการด้านการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจ startup และวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนภาคส่วนดังกล่าวภายใต้มาตรการสำคัญทางการเงินและการยกระดับขีดความสามารถ โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนด้านข้อมูลโดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ SME ธุรกิจ startup และวิสาหกิจชุมชนภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการร่วมมือนี้จะช่วยให้การส่งเสริมและพัฒนาของทางกรมและธนาคารขยายผลครอบคลุมกว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น”





     ขณะที่ พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนทำให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับประโยชน์สูงสุด ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ทางธนาคารได้มีโอกาสนำศักยภาพและความพร้อมทางด้านทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ (Business Ecosystem) มาใช้สร้างประโยชน์ให้กับเครือข่าย SME กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่กว้างขวางยิ่งขึ้นและลงลึกถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างแท้จริง


     “ธนาคารเตรียมวงเงิน 20,000 ล้านบาทสำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการโดยคิดดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนตัวเองผ่านทางการใช้เครื่องมืออย่างออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีเงินทุนอีก 20,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ กู้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย เพื่อใช้ในการปรับปรุงธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย”


     โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะร่วมกันบูรณาการวิสาหกิจชุมชน SME ไทย และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ให้พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลที่มีมูลค่าเพิ่มตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ผ่านทางพันธกิจ 6 ด้าน ได้แก่  

     1.สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เข้าถึงความรู้ตลอดจนกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ


     2.สร้างโอกาสทางการตลาดและการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มของธนาคารที่มีอยู่และกำลังพัฒนาในอนาคต รวมถึงแพลตฟอร์มที่ธนาคารได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำอื่นๆ เช่น การปักหมุดสถานที่ประกอบธุรกิจบน Google My Business เป็นต้น โดยโฟกัสกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน


     3.ร่วมสนับสนุนโครงการ Startup Hub ให้เกิดผลสัมฤทธิ์


     4.สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์และระบบฐานข้อมูลจับคู่ธุรกิจออนไลน์ครอบคลุมทั้งการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองและระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในต่างประเทศ


     5.สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชน SME และสตาร์ทอัพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินของธนาคารได้อย่างคล่องตัวและตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง


     6.เปิดโอกาสให้ SME ภายใต้เครือข่ายของทั้งสององค์กรสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆระหว่างกันเพื่อเปิดมุมมองในการทำธุรกิจได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น   
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้