กสิกรไทย ออกสินเชื่อแฟรนไชส์ร้านกาแฟมวลชน วงเงินกู้ 100%





     

     ด้วยมูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมากกว่า 2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 10-15% ในปี 2561 นี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะแฟรนไชส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก 


     ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์อาหาร ถือได้ว่ามีสัดส่วนมากที่สุดประมาณร้อยละ 22.9 รองลงมาคือกลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีมคิดเป็น 21.9% โดยในจำนวนนี้เป็นแฟรนไชส์ธุรกิจกาแฟสดประมาณ 21.6% ของจำนวนธุรกิจในกลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีม ในปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งตลาดมีมากกว่า 1 แสนสาขาทั่วประเทศและยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาได้จากผู้สนใจขอรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับแฟรนไซส์ ที่มีถึงกว่า 15,000-20,000 รายต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผู้ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้ 


     ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด สนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟมวลชน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีธุรกิจเป็นของตนเอง โดยธนาคารสนับสนุนสินเชื่อสำหรับเปิดร้านกาแฟมวลชน ให้วงเงินสินเชื่อ 100% ของมูลค่าการลงทุน ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่ต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมบริการจัดการด้านการเงินที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ด้วยบริการเครื่องรูดบัตร (EDC) หรือบริการ K PLUS SHOP เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการถือเงินสด โดยธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อแฟรนไชส์ร้านกาแฟมวลชน 210 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้





     ด้าน ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า ร้านกาแฟมวลชน “กาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน” แต่เดิมเราดำเนินธุรกิจร้านกาแฟมาพร้อมกับการสร้างอาชีพผู้ประกอบการร้านกาแฟผ่านโครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชนมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8 อบรมไปแล้ว 84 รุ่น ผู้เข้าอบรมกว่า 8,700 คน เน้นการให้ความรู้พื้นฐานการทำธุรกิจร้านกาแฟให้ยั่งยืน ตั้งแต่การพิจารณาทำเลที่ตั้ง การสำรวจตลาด การเก็บข้อมูลของลูกค้า รวมถึงด้านปฏิบัติการใช้เครื่องชงกาแฟ สอนทำกาแฟจริงด้วยสูตรร้านกาแฟมวลชน ซึ่งเปิดอบรมให้กับผู้ที่สนใจอยากมีธุรกิจร้านกาแฟ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งเมื่อปี 2556 ซีพี รีเทลลิงค์ จึงตัดสินใจเปิดตัวธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟมวลชน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจร้านกาแฟ รวมถึงรายเก่าที่ต้องการมีธุรกิจกาแฟควบคู่ไปกับธุรกิจเดิม

 
     ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟมวลชน มีขนาดธุรกิจให้ผู้ลงทุนเลือกถึง 4 รูปแบบ เริ่มตั้งแต่ขนาด SS ซึ่งมีลักษณะเป็นคีออส ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่ถึง 300,000 บาท ถัดมาคือขนาด S และ M ไปจนถึง L คือขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีทำเลขนาดพื้นที่ 61 ตร.ม.ขึ้นไป โดยกาแฟมวลชนมีทีมงานมืออาชีพที่พร้อมให้การดูแลและสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจมีธุรกิจร้านกาแฟตลอดอายุสัญญา ตั้งแต่ประเมินทำเลสถานที่ตั้งฟรี ให้คำปรึกษาเรื่องการออกแบบและตกแต่งร้าน อบรมพื้นฐานการทำธุรกิจและการบริหารจัดการร้านกาแฟฟรี ผ่านการปฏิบัติจริงในสถานที่จริง จัดทำกลยุทธ์การตลาด กิจกรรมส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์สินค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมทีมช่างบริการครอบคลุมทั่วประเทศ 

 
     ร้านกาแฟมวลชนมุ่งหวังที่จะเดินหน้าสานต่อการดำเนินธุรกิจร้านกาแฟควบคู่ไปกับแนวคิด “กาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน” ด้วยการจับมือกับแฟรนไชส์ซี่ ที่สนใจเปิดร้านกาแฟมวลชน ร่วมสร้างประสบการณ์การบริโภคกาแฟในรูปแบบใหม่ให้กับผู้บริโภคได้ใส่ใจสังคมและชุมชน ไม่เพียงได้บริโภคกาแฟที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้เท่านั้น แต่ยังได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME ท้องถิ่น และส่งต่อสาธารณะประโยชน์ให้กับวัดและมูลนิธิเด็กทุก 1 บาท 1 แก้ว ผ่านเครื่องดื่มจากร้านกาแฟมวลชนกว่า 150 สาขาทั่วประเทศ

 
     นอกจากนี้ สุรัตน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์คงค้าง 2,439 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะอยู่ใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเบเกอรี่ และธุรกิจเครื่องดื่ม ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกที่ดีในการทำธุรกิจสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อแฟรนไชส์เติบโต 5% 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้