ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SME ประจำไตรมาสที่ 2/2561 จาก 1,249 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3 ดัชนี ได้แก่ 1.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME (SME Situation Index) 2.ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ (SME Competency Index) และ 3.ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SME (SME Sustainability Index) แสดงให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME (SME Competitiveness Index)
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 43.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (1/2561) แสดงให้เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน เพราะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2560 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3/2561 ไปอยู่ที่ระดับ 43.6
ทั้งนี้ เมื่อลองเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในกลุ่มที่เป็นลูกค้าและกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. จะพบว่า ในกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. สถานการณ์ธุรกิจกลับปรับตัวลดลงเกือบทุกหัวข้อของการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่อง สต๊อกวัตถุดิบ หนี้สินรวม กำไรสุทธิ กำไรสะสม โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับลดลง 0.6 จากระดับ 39.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.8 สวนทางกับกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น 1.9 จากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 48.3
ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 2/2561 อยู่ที่ระดับ 50.2 ปรับตัวลดลงมา 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. พบข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีลดลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 44.9 ในไตรมาส 1/2561 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.3 ในไตรมาสที่ 2/2561 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ปรับเพิ่มขึ้น 0.6 จากระดับ 56.2 ในไตรมาสที่ 1/2561 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.8 ในไตรมาสที่ 2/2561
ด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 2/2561 อยู่ที่ระดับ 52.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3/2561 ไปอยู่ที่ระดับ 52.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันถึง 3 ไตรมาส บ่งบอกว่าผู้ประกอบการมีการยกระดับการทำธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนได้ดีขึ้น โดยกลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธพว. ปรับขึ้น 1.1 จากไตรมาสก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.0 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ปรับขึ้น 0.2 จากไตรมาสก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 58.7
ทั้งนี้ จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาสที่ 2/2561 พบว่า อยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากไตรมาส 3/2560 เป็นต้นมา และคาดว่าในไตรมาสที่3/2561 จะเพิ่มขึ้นอีกไปอยู่ที่ระดับ 48.7 และเมื่อแยกกลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธพว. พบว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ ลดลง 0.1 จาก 43.1 มาอยู่ที่ 43.0 ส่วนลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขึ้น 0.9 จาก 53.7 มาอยู่ที่ 54.6
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ประกอบการควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนแม้ว่าจะยังคงทรงตัวในทิศทางอ่อนลง ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน สงครามทางการค้าหรือ Trade War ที่ยังไม่สิ้นสุด ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวต่ำ กำลังซื้ออาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว และความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ
ด้านมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเสริมว่า ดัชนีที่สำรวจครั้งนี้ สะท้อนถึงแนวทางสนับสนุนลูกค้าธนาคารที่มุ่งเติมทุนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ควบคู่กับการพัฒนาให้ความรู้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านทำบัญชี วางแผนธุรกิจ การตลาด การสร้างมาตรฐานให้สินค้าหรือบริการ เป็นต้น นับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะช่วยให้เอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อยคนตัวเล็ก เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย รวมถึง มีความสามารถในการทำธุรกิจสูงขึ้น ผลักดันธุรกิจสู่ความยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจมากกว่าผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยทั่วไป
นอกจากนั้น ธนาคารได้เปิดบริการแอปพลิเคชั่น “SME D Bank” ยื่นขอสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา จากนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” จะเข้าไปหาพบ เพื่อตรวจสภาพกิจการจริง ช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพะรายย่อยในชุมชนต่างๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารได้ง่ายยิ่งขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี