สำหรับผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ อย่างเอสเอ็มอีแล้ว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อ ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลัง สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ แห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ที่มีบทบาทสำคัญช่วยเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนได้ ที่สำคัญที่สุดคือ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขัน สร้างความแตกต่าง และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแข็งแรงขึ้นมาได้
วิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรม โดยมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อแข่งขันในธุรกิจได้แม้จะเจอกับผู้แข่งขันรายใหญ่
“จริง ๆ นวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีหลังที่ผ่านมานี้เอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ เพราะทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้เล่นรายเล็กสามารถเขย่าบัลลังก์ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ นี่คือ ความสำคัญของนวัตกรรม ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงในประเทศเท่านั้น หากมีนวัตกรรมที่ดี ก็จะสามารถเพิ่มการแข่งขันไปยังตลาดต่างประเทศ หรือทั่วโลกได้ด้วย
“โดยบทบาทหน้าที่ของ บสย.เรามีภารกิจหลักสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้ 2.ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจได้แข็งแรงมากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม เราได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อพิเศษขึ้นมาเฉพาะชื่อว่า ‘ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม’ ซึ่งปัญหาที่เอสเอ็มอีกลุ่มนี้เจอ คือ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกิดใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจ การทำเรื่องขอสินเชื่อจึงทำได้ยากกว่าผู้ประกอบการทั่วไปมาก แต่โครงการนี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษเพื่อให้แบงก์มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับเอสเอ็มอีเราก็มีสิทธิพิเศษให้ เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม 1 ปี สามารถค้ำประกันให้สูงสุดถึง 20 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 10 ปี
“แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นผู้ประกอบการต้องผ่านการประเมินจากทางแบงก์ด้วย ซึ่งในส่วนนี้เราเองได้ทำ MOU จับมือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำโครงการ Knowledge Sharing Program (KSP) ขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบโมเดลและองค์ความรู้ในการประเมินจัดอันดับเทคโนโลยีของผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมต่าง ๆ โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการ เพื่อทดสอบและขอผลการประเมิน เพื่อนำไปใช้รับรองขออนุมัติสินเชื่อจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ได้ โดยเป็นเทคโนโลยีที่นำมาเข้ามาจากประเทศเกาหลีใต้ นี่คือ 2 ส่วนสำคัญที่เราจะช่วยผลักดันผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม”
จากการให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม และเพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบให้เกิดการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น บสย.จึงได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ SME Thailand Award 2018 เวทีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม
“เราเองมีนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมอยู่แล้ว โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีมีการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีผลงานโดดเด่นด้านนวัตกรรม ซึ่งในบ้านเราน้อยมากที่จะมีเวทีแบบนี้ ซึ่งผมคิดว่า สำหรับเอสเอ็มอีแล้ว รางวัลเหล่านี้มีความสำคัญมาก และมีคุณค่ามาก เป็นทั้งความภูมิใจ แรงบันดาลใจ และยังช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมต่าง ๆ พยายามที่จะปรับปรุงศักยภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น” รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย.กล่าว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี