กสิกรไทยจับมือพันธมิตรหนุน SME ยกระดับสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve







     เพราะเล็งเห็นถึงความท้าทายในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ฮาร์ดแวร์ และพลาสติกอุตสาหกรรม ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) ซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนายกระดับศักยภาพธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทย จึงได้จับมือร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย จัดโครงการ K SME Good to Great หนุน SME ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ฮาร์ดแวร์ และพลาสติกอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการผลิตสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต  (New S-Curve)  


     จากการเปิดเผยของ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการ  ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยจัดโครงการ K SME Good to Great นี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ฮาร์ดแวร์ และพลาสติกอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้ง  3 กลุ่มธุรกิจนี้ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตและส่งผลกระทบกับธุรกิจและเศรษฐกิจโลก 


     โดยเฉพาะเทคโนโลยีในโลกยานยนต์ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  ทั้งการผลิตรถยนต์ที่มีฟังก์ชั่นต่างๆ รวมถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ที่ต้องมีระบบการทำงานแบบอัจฉริยะมากขึ้นในหลายๆ ส่วน ส่งผลให้ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ฮาร์ดแวร์ และพลาสติกอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงธุรกิจยานยนต์ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและยกระดับการผลิตของตนเองในการเข้ากลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)   ให้ได้ 


     นอกจากนี้ธุรกิจฮาร์ดแวร์ และธุรกิจพลาสติกอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตที่ปัจจุบันมุ่งการผลิตไปที่ประเทศจีนที่มีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ไทยในทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการผลิต นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มกำลังการผลิต และลดต้นทุน รวมทั้งต้องพยายามหาตลาดใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติ


     สำหรับรายละเอียดโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1) งานสัมมนาให้ความรู้เรื่องกลยุทธ์ แนวโน้มการผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอนาคต  2) การอบรมเชิงลึก 4 วันกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง  โดยนำเทคโนโลยีหรืองานวิจัยเข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าและต่อยอดสินค้าโดยคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้น และ 3) การให้คำปรึกษาตัวต่อตัวในการทำวิจัยและพัฒนาธุรกิจ สำหรับ 5 ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท พร้อมรับคำปรึกษารายธุรกิจ พร้อมเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาศักยภาพธุรกิจจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ธนาคารฯ หวังว่าโครงการ K SME Good to Great นี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจให้สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต                                                                                                                                     




     ด้าน รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) จาก สวทช. เปิดเผยว่า บทบาทของสวทช. คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  ฮาร์ดแวร์ และพลาสติกอุตสาหกรรม จัดอยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเน้น  โดย สวทช.  จะให้ความสำคัญในการทำงานวิจัย และยกระดับเทคโนโลยีในการผลิตของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ทาง สวทช.  ก็ทำงานในหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ สวทช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ช่วย SME ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ สำหรับการดำเนินการภายใต้โครงการนี้ จะมีกิจกรรมช่วยส่งเสริมความสามารถของผู้ประกอบการ  รวมทั้งคัดสรรวิทยากร หัวข้อบรรยาย การศึกษาดูงานที่เป็นประโยชน์และทันต่อสถานการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ   


     ขณะที่ สุวรรณ  เหรียญเสาวภาคย์  รองผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  เปิดเผยว่า สถาบันฯ  ให้ความสำคัญเรื่องระบบการบริหารจัดการทั้งในส่วนของกระบวนการผลิต บุคลากร แผนกลยุทธ์ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายคือต้องการยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังหลักสำคัญของประเทศและมีการแข่งขันที่สูง ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการแนะนำแนวทางต่อผู้ประกอบการทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรมถึงแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรแบบบูรณาการ ผ่านผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ (Implementer) ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อแนะนำต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปดำเนินการได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 


     ในส่วนของ ชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล  นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ มุ่งหวังผลักดันสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรม S-Curve  จึงได้พัฒนาสมาชิกซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม โดยการมุ่งเน้นสร้างกิจกรรม อาทิ การฝึกอบรมสัมมนา  ให้คำปรึกษาแนะนำในเชิงลึก การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงอุตสาหกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ  รวมทั้งการหาตลาดโดยการพาสมาชิกไปศึกษาดูงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่ออัพเดทเทคโนโลยีอยู่เสมอ  จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยจุดประกายและผลักดันผู้ประกอบให้ต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอนาคตใหม่ๆ ได้โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ มาช่วยวิเคราะห์ เพิ่มจุดแข็งลดจุดอ่อนให้กับธุรกิจในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี   
 

     โครงการ K SME Good to Great จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในครั้งแรกจัดให้แก่กลุ่มธุรกิจผลิตอาหาร ครั้งต่อมาสำหรับธุรกิจค้าปลีกซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ล่าสุดกับ 3 ธุรกิจได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ฮาร์ดแวร์ และพลาสติกอุตสาหกรรม ถือเป็นกลุ่มธุรกิจสุดท้ายของโครงการฯ ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 23 ส.ค. 61 ดูรายละเอียดโครงการและสมัครได้ที่ www.ksmegoodtogreat.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ K BIZ Contact Center โทร 02 888 8822 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้