บสย. หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม นับเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากขึ้น โดยล่าสุดได้ปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ วงเงิน 81,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561
ในเรื่องนี้ วิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว บสย.ได้ร่วมกับ 17 ธนาคารพันธมิตร ในการปล่อยสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้จำนวน 19,636 ราย อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 81,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 133,492 ล้านบาท
โดย 5 กลุ่มธุรกิจค้ำประกันสูงสุด ประกอบด้วย 1.กลุ่มบริการ วงเงิน 20,905 ล้านบาท 2.กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ วงเงิน 8,658 ล้านบาท 3.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม วงเงิน 7,826 ล้านบาท 4.กลุ่มเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักร วงเงิน 6,524 ล้านบาท และ 5.กลุ่มเกษตรกรรม วงเงิน 6,498 ล้านบาท
วิเชษฐ กล่าวว่า นับเป็นโครงการที่สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อที่ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม ฟรีค่าธรรมเนียม ค้ำประกัน 4 ปี โดยรัฐบาลและธนาคารพันธมิตร ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีต้นทุนการเงินที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ บสย.ได้เตรียมความพร้อมสำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอต่อกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีตามลำดับ นอกจากนี้ บสย.ยังได้เชิญธนาคารพันธมิตร ร่วมรับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าว อาทิ หลักการและเหตุผล ประเภทของกลุ่มการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการ SME ทุกกลุ่ม และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อให้ธนาคารต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อม ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติโครงการ