P2P Lending ทางเลือกแหล่งเงินกู้ใหม่ SME







     P2P Lending นับว่าเป็นสิ่งใหม่ และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย ซึ่งโดยหลักการแล้วแพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงจะเข้ามาเป็นทางเลือกแหล่งเงินทุนใหม่ แต่ยังได้รับการคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสินเชื่อของผู้กู้รายย่อยให้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งตลาด P2P Lending ในหลายประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ก็มีการเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง เช่น อังกฤษ และจีน ที่ล่าสุดไตรมาส 1/2561 ยอดสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มยังโตกว่า 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน มาแตะระดับ 5 พันล้านดอลลาร์ฯ และ 207 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ แต่ขณะเดียวก็พบว่าแพลตฟอร์มบางแห่งต้องปิดตัวลงด้วยปัญหาคุณภาพหนี้ 


P2P Lending  คืออะไร?

     P2P Lending คือ แพลตฟอร์มการให้กู้ยืมระหว่างบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  อีกผลผลิตหนึ่งจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่เปรียบเสมือนสถานที่นัดพบออนไลน์และจับคู่ระหว่างนักลงทุน (ผู้มีเงินออม) กับผู้ขอกู้ (ผู้ต้องการเงินทุน) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ซึ่ง ณ ขณะนี้ แพลตฟอร์ม P2P Lending ในไทย 4-5 ราย เริ่มเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ทั้งฝั่งนักลงทุน ที่จำกัดเพียงนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน ส่วนฝั่งผู้ขอกู้ ยังจำกัดเพียงสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ขณะที่ในอนาคต ผู้ประกอบการมีความสนใจที่จะขยายไปสู่บริการสินเชื่อไม่มีหลักประกันแก่บุคคลทั่วไป เพียงแต่จะดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติก็ต่อเมื่อมีประกาศของ ธปท. และ/หรือ ก.ล.ต. ออกมารองรับแล้วเท่านั้น
 

     โดยหลักการ.. P2P Lending ช่วยเพิ่มทางเลือกแหล่งเงินทุนใหม่ให้แก่ผู้กู้รายย่อย  ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง และเงื่อนไขการขอกู้ที่ผ่อนคลาย (เมื่อเทียบกับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน)


     • เนื่องจากการปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์ม P2P Lending ดำเนินอยู่บนระบบดิจิทัล ทำให้ต้นทุนในบางกระบวนการปล่อยกู้อาจลดลงได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ขอกู้ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลงตามไปด้วย โดยต้นทุนที่การปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์มมีความได้เปรียบ (เมื่อเทียบกับการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน) มักเป็นประเภทต้นทุนที่สำคัญในอันดับต้นๆ สำหรับการปล่อยกู้รูปแบบเดิม เช่น ต้นทุนสาขา ต้นทุนพนักงาน ตลอดจนต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎกติกากำกับของทางการ กระนั้นก็ดี ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม มักจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มจากวงเงินสินเชื่อที่ผู้ขอกู้ได้รับด้วยเช่นกัน (ประมาณ 1-4% ของวงเงินสินเชื่อที่ผู้ขอกู้ได้รับ ) ซึ่งนับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่ผู้ขอกู้จะต้องเผชิญเพิ่มเติมจากต้นทุนดอกเบี้ย


     • แพลตฟอร์มบางแห่ง ยังได้ออกแบบให้มีกลไกการแข่งขันด้านราคาในระดับนักลงทุน ผ่านกระบวนการประมูลลูกหนี้ออนไลน์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสต่ำลงได้อีก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนอกจากจะอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงของลูกหนี้แล้ว ยังอาจได้รับประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยของทุกแพลตฟอร์มที่พบ จะถูกจำกัดเพดานไว้ที่ 15% ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อไม่มีหลักประกันของสถาบันการเงินมีโอกาสสูงกว่า ตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า


     • นอกจากนี้ โดยมากแพลตฟอร์ม P2P Lending จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก มักเผชิญข้อจำกัดดังกล่าวจากการขอสินเชื่อสถาบันการเงิน จนในบางครั้งอาจต้องหันพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ


     • แพลตฟอร์ม P2P Lending ยังผ่อนคลายเงื่อนไขการขอกู้ กรณีสินเชื่อธุรกิจ ให้ธุรกิจที่ดำเนินการเพียง 1 ปี ก็สามารถยื่นขอกู้ได้ ซึ่งการผ่อนคลายเงื่อนไขข้อนี้ สามารถส่งเสริมให้เกิดการเติมเต็มช่องว่างบริการทางการเงินด้านเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอีรายใหม่และสตาร์ทอัพ จากโดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจที่ขอสินเชื่อไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงินได้ จะต้องดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี 


     ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดเงินปล่อยกู้สำหรับสินเชื่อธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1,000-1,500 ล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับปริมาณสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย แม้จะคิดเป็นเพียงสัดส่วนราว 0.03% เท่านั้น แต่ก็นับว่า สามารถช่วยเติมช่องว่างบริการทางการเงินที่เคยมีได้บางส่วนในระหว่างรอการประกาศเกณฑ์กำกับจาก ธปท. และ ก.ล.ต. เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เมื่อเกณฑ์ดังกล่าวออกมา ประกอบกับระบบจัดการด้านเครดิตของแพลตฟอร์มได้รับการพัฒนามาระยะหนึ่ง ก็คาดว่าคงจะเห็นทิศทางอนาคต P2P Lending ในไทยที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในมิติของฐานลูกค้าที่น่าจะกว้างขึ้น


     หัวใจสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของ P2P Lending.. ยังเป็นเรื่องคุณภาพของกลไกจัดการความเสี่ยงตลอดกระบวนการปล่อยกู้ของแพลตฟอร์ม (ตั้งแต่กระบวนการช่วงก่อนถึงหลังปล่อยกู้) ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน


     • ความแม่นยำของการจัดอันดับเครดิตผู้ขอกู้ (Credit Rating) ผ่านระบบ Credit Scoring คือหัวใจในกระบวนการช่วงก่อนปล่อยกู้ ที่นักลงทุนจะใช้ประกอบการตัดสินใจเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ ระบบดังกล่าว จะถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแต่ละราย ผ่านการสร้างสมการในการวิเคราะห์เครดิตที่แตกต่างกันไป อาทิ การใช้ข้อมูลเครดิตบูโร (โดยในปัจจุบัน กำหนดให้ลูกค้าเป็นผู้ขอประวัติของตัวเองและนำส่งให้แพลตฟอร์ม) ข้อมูลการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากธนาคาร งบการเงินบริษัท การเข้าเยี่ยมชมหน้าร้านค้า และอาจขยายไปสู่การนำข้อมูลในโซเชียลมีเดียมาร่วมวิเคราะห์ 


     • ส่วนกระบวนการติดตามทวงหนี้ จะช่วยปิดความเสี่ยงในขั้นหลังจากที่ได้ดำเนินการปล่อยกู้แล้ว ซึ่งแพลตฟอร์ม มักจะเป็นผู้ติดตามทวงหนี้ในช่วงแรกที่ผู้ขอกู้ผิดนัดชำระหนี้ แต่หากไม่สำเร็จ ในขั้นถัดไปจะว่าจ้างบริษัททวงหนี้ให้ติดตามหนี้แทน ตลอดจนท้ายที่สุดก็มีบริการในขั้นตอนของการฟ้องร้องและกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ 


     • ขณะที่ค่าใช้จ่ายในกระบวนการทวงหนี้ทั้งหมดนี้ จะเป็นความรับผิดชอบของนักลงทุน และ/หรือ ลูกหนี้ (ขึ้นกับเงื่อนไขแต่ละแพลตฟอร์ม) ซึ่งไม่รวมอยู่ในค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม นั่นหมายความว่า ผลตอบแทนสุทธิที่นักลงทุนจะได้รับ เท่ากับ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หักด้วย ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม (ถ้ามี จะอยู่ประมาณ 1-2% ของเงินต้นที่ได้รับคืน) และค่าใช้จ่ายติดตามทวงหนี้ทั้งหมด (กรณีผู้ขอกู้ผิดชำระหนี้ และนักลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้) 


     • ถึงแม้กลไกแพลตฟอร์มจะถูกออกแบบมาให้ช่วยลดความเสี่ยงด้วยกระบวนการข้างต้น แต่ระบบการจัดการด้านเครดิตเหล่านี้ ยังต้องเผชิญความท้าทายและต้องผ่านอีกหลายบททดสอบจากวัฏจักรเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่จะกระทบต่อธุรกิจของลูกหนี้ในมิติที่แตกต่างกัน (แม้ว่า ในปัจจุบัน ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ P2P Lending ในไทย ตามการให้ข้อมูลของผู้ประกอบการ จะยังอยู่ในระดับต่ำมาก หรือเกือบจะอยู่ที่ 0% ก็ตาม) ตลอดจนบทพิสูจน์ถึงเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะเมื่อตลาดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นกังวลเชิงเทคนิค เช่น ความถูกต้องและความปลอดภัยของข้อมูลธุรกรรมในระบบดิจิทัล การคำนวณผลตอบแทน รวมไปถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์


     ดังนั้น กลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนผ่านแพลตฟอร์ม P2P Lending โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประสบการณ์ในการลงทุนและการปล่อยกู้ที่ดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งไม่ควรลงทุนโดยเน้นเฉพาะผลตอบแทนอย่างเดียว (Search for Yield) เพราะการลงทุนผ่านแพลตฟอร์มนี้ นักลงทุนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในกระบวนการทวงถามหนี้ ซึ่งแตกต่างไปจากผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่จะได้รับเงินฝากตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้