ภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลให้ เวียดนาม เป็นหนึ่งในที่หมายสำคัญที่นักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศต้องการเข้าไปลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมด้านแรงงานที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีทัศนคติที่ดีในการพัฒนาศักยภาพตนเอง เป็นแหล่งวัตถุดิบ และตลาดรองรับสินค้าที่มีศักยภาพ ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 90 ล้านคน
จากการเปิดเผยของ พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมียุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างเครือข่ายบริการในประเทศอาเซียนบวกสาม (AEC+3) เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทและกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถต่อยอดธุรกิจออกไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพในภูมิภาคได้ โดยในปี 2560 ประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนามในภูมิภาคอาเซียน ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างกันจำนวน 15,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 30.5% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างเวียดนามกับอาเซียน ขณะที่มูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศเวียดนามมีจำนวนถึง 3.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินลงทุนจากนักลงทุนไทยจำนวน 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเป็นลำดับที่ 9 ของนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ทั้งนั้น มีธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในรูปแบบการซื้อและควบรวมกิจการของเวียดนาม รวมมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มธุรกิจดังกล่าวล้วนเป็นลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยทั้งสิ้น อาทิ ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจโรงแรม กลุ่มวัตถุดิบและอุปกรณ์ก่อสร้าง และ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น สะท้อนความสนใจของภาคธุรกิจไทยที่มีต่อตลาดประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ดี ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) โดยสาระสำคัญเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่มีความเป็นสากล (SMEs Internationalization) พร้อมกับขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้นผ่านความร่วมมือกันในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยธนาคารกสิกรไทยจะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย มาใช้ในการยกระดับความร่วมมือในการสนับสนุนการค้าระดับทวิภาคี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม จากมูลค่า 15,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตกว่า 30% ภายในปี 2563
พร้อมกันนี้ พิพิธ ได้กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีสำนักงานผู้แทนในเวียดนามอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานผู้แทนกรุงฮานอย และสำนักงานผู้แทนนครโฮจิมินห์ ที่ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดูแลธุรกิจของลูกค้าคนไทยที่ต้องการขยายตลาดไปยังเวียดนาม ทั้งเพื่อการค้าระหว่างประเทศและเพื่อการลงทุนในเวียดนาม รองลงมาคือลูกค้าบริษัทจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ต้องการขยายธุรกิจในเวียดนาม รวมทั้งมีความพร้อมที่จะให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของเวียดนามที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของลูกค้าธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีแผนจะยกระดับสำนักงานผู้แทนในเวียดนาม ให้เป็นสาขาธนาคารต่างประเทศ (Foreign Bank Branch) ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ธนาคาร ฯ เพิ่มบทบาทในการให้บริการด้านการเงินที่มากขึ้น รวมทั้งการให้การสนับสนุนธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของเวียดนามด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี