​เรื่องเม้าส์จากโต๊ะแชร์: จ่ายแต๊ะเอียตอนสงกรานต์ กลยุทธ์คุมเงินที่คุณอาจยังไม่รู้






 
     เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสไปนั่งเม้าส์มอยอยู่ในวงสนทนาที่เต็มไปด้วยผู้ประกอบการลูกครึ่งไทย – จีนทั้งหลายที่กำลังเม้าส์เรื่องลูกน้องตัวเองกันอย่างออกรสออกชาติ หนึ่งในปัญหาหลักๆ ที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องเจออยู่บ่อยๆ คือพอสงกรานต์ปุ๊บ ลูกน้องชอบมาเบิกเงินล่วงหน้า ขนาดว่าเพิ่งแจกแต๊ะเอียให้ไปตอนตรุษจีนหยกๆ ผ่านไปไม่นาน ลูกน้องตัวดีก็เอาไปถลุงลงกับเหล้ายาปลาปิ้ง พนันบอล ซื้อหวยกันจนหมด แม้ว่าเจ้านายจะเตือนกันจนปากฉีกก็ยังไม่วายเอาไปกินเหล้าได้ทุกทีจนหน่ายใจ
 

     ‘ผมนะ ไม่เคยแจกแต๊ะเอียตอนตรุษจีนเลยรู้มั้ย แจกไปเท่าไหร่ก็หมด พอสงกรานต์ก็มาลำบากเราทุกที’ เถ้าแก่เจ้าของบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าคนหนึ่งพูดขึ้นกลางวง

 
     ‘เอ้า แล้วเฮียก็ไม่จ่ายเลยเหรอ?’ อีกคนหนึ่งถามขึ้นด้วยความสงสัย
 

      ‘จ่ายสิ แต่ผมเลื่อนมาจ่ายสงกรานต์ทีเดียว สบายขึ้นเลย’ เถ้าแก่ตอบ
 

     ‘เห้ย! มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วมันดีกว่ายังไงบ้างเฮีย’ ผู้ประกอบการอีกคนหนึ่งมีท่าทีสนใจและไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าทำแบบนี้มันดีกว่า
 

     ‘มา ผมจะเล่าให้ฟัง’ เถ้าแก่ที่จ่ายแต๊ะเอียลูกน้องตอนสงกรานต์ พร้อมที่จะแชร์เคล็ดลับนี้ให้ทุกคนได้ฟังกัน
               

     แบ็คกราวน์ของเฮียก็เป็นเถ้าแก่คุมลูกน้องอยู่หลายสิบคน มีทั้งลูกน้องตั้งแต่เป็นแอดมิน ดูแลสต็อกของ ไปจนถึงพนักงานขับรถส่งของ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ของเฮียมักจะมีภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง เฮียเลยวางกฎคือสามารถเบิก ล่วงหน้าได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ส่วนในช่วงเทศกาลต่างๆ เฮียจะสามารถให้ลูกน้องใช้รถที่บริษัทขับกลับบ้านต่างจังหวัดได้ โดยติดรถกันไป 3-4 คนลูกน้องจะต้องดูแลรถและค่าน้ำมันด้วยตัวเอง แต่เมื่อเฉลี่ยกันแล้วก็คุ้มกว่าต้องไปต่อคิวขึ้นรถที่ หมอชิต   
 

    ‘เฮียแล้วแบบนี้ เฮียไว้ใจได้เหรอว่าเขาจะไม่เอารถไปทำอะไรไม่ดี หรือขโมยไปเลย’ เถ้าแก่อีกคนหนึ่งถามขึ้น
 

     ‘เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นเรื่องของใจแลกใจ เราต้องคุยกับเขาให้ชัดเจนว่าเราไว้ใจเขานะ พอคุยกันรู้เรื่องก็อยู่กันได้ยาว’ เฮียตอบ
    

    
    
     ส่วนเรื่องของการจ่ายแต๊ะเอียในช่วงสงกรานต์แทนที่จะจ่ายช่วงตรุษจีน หลายคนอาจมองว่ามันผิดธรรมเนียมหรือเปล่า แต่เฮียบอกว่ามันช่วยคุมค่าใช้จ่ายดีขึ้นทั้งตัวเฮียเองและตัวพนักงาน เนื่องจากเฮียเข้าใจธรรมชาติของลูกน้องตัวเองว่าเมื่อเงินสดมาถึงมือ มันยากที่ลูกน้องจะไม่เอาไปใช้ในทันที เฮียเลยลองปรับวิธีการจ่ายแต๊ะเอีย เลื่อนมาจ่ายช่วงสงกรานต์แทน ปรากฏว่าลูกน้องที่เคยมาขอเบิกเงินกลับบ้านช่วงสงกรานต์ก็ไม่ต้องมาขอเบิกเงินอีกต่อไป สามารถใช้แต๊ะเอียเป็นทุนกลับบ้านได้เลย ตัวเฮียเองก็สามารถบริหารเงินสดได้ดีขึ้น ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินเหล่านี้
 

     อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคุยกับลูกน้องให้เข้าใจคือการจ่ายแต๊ะเอียมันเป็นธรรมเนียมที่เถ้าแก่ ‘จะจ่ายก็ได้หรือไม่จ่ายก็ได้’ อีกทั้งเงินแต๊ะเอียอาจจะไม่เท่ากันทุกปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหลายอย่างประกอบกัน เพราะถ้าหากลูกน้องไม่เข้าใจ เมื่อเขาได้เงินมาหนึ่งก้อนในปีนี้ ช่วงเวลานี้ พอถึงปีหน้าเขาจะเริ่มวางแผนการใช้เงิน ทั้งๆ ที่เงินยังมาไม่ถึงมือเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่ตามมาคือหากว่าเงินไม่ได้ตามจำนวนที่คาดหวัง หลายคนซื้อของมาก่อน รอผ่อนของ พอเงินมาไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ก็จะผิดหวังแถมยังต้องลำบากเถ้าแก่ในการออกเงินจ่ายค่าของไปก่อน  
               

     ‘โหเฮีย เดี๋ยวไว้จะลองกลับไปบอกป๊าให้ทำตามวิธีนี้ดู เพราะของผมก็เจอปัญหาลูกน้องชอบมาเบิกเงินกลับบ้านเหมือนกัน’ เถ้าแก่คนหนึ่งสนใจในวิธีการเลื่อนจ่ายแต๊ะเอียของเฮียคนนี้
 

     เพียงการปรับนิด ขยับหน่อย ก็อาจจะทำให้คุณสามารถคุมเรื่องของค่าใช้จ่ายในองค์กรได้ดีขึ้น อย่างวิธีการของเฮียที่ยิงปืนทีเดียวได้นกหลายตัวเลยล่ะ อีกอย่างคือลูกน้องรักเฮียทุกคน เพราะเฮียเข้าใจในธรรมชาติของลูกน้องตัวเอง ใช้ใจแลกใจ แบบนี้ลูกน้องก็คงหนีไปไม่ได้แล้วล่ะ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้